นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหนุนเพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคม ถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 แม้ทางกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้คาดการณ์สถานการณ์ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำชี-มูล จะกลับสู่ภาวะปกติกลางเดือนพฤศจิกายน 2565
สำหรับสถานการณ์ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะนี้ปริมาณน้ำเหนือจากแม่น้ำปิงและน่าน รวมถึงปริมาณฝนในพื้นที่ลดลง ซึ่ง กอนช. ได้คาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเข้าสู่สภาวะปกติประมาณช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2565 หรืออาจเร็วกว่ากำหนดคือช่วงปลายสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน 2565 กรณีสามารถควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ 1,500 ลบ.ม. ต่อวินาที รวมถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชี – มูล ก็คาดว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงกลางเดือนพฤศิจกายน 2565 เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้รัฐบาลโดยคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้ กอนช. ยังได้เตรียมพร้อมการดำเนินการภายหลังน้ำลด โดยมีการประเมินและชี้เป้าพื้นที่ที่ระดับน้ำลดลง และแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือ พร้อมอำนวยการและประสานการปฏิบัติงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อร่วมกันควบคุมป้องกัน แก้ไข ระงับหรือบรรเทาผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติด้วย
นายอนุชาฯ กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลซึ่งปีนี้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุ จำนวน 3 ลูก (พายุมู่หลาน หมาอ๊อน และโนรู) รวมถึงได้รับอิทธิพลจากร่องความกดอากาศต่ำบริเวณภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลางและตะวันออก ส่งผลให้ปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศในช่วง1 ม.ค.–22 ต.ค.65 มีปริมาณถึง 1,775 มิลลิเมตร (มม.) ซึ่งมากกว่าค่าปกติ 21% น้อยกว่าเมื่อปี 2554 อยู่เพียง 3 มม. หรือคิดเป็น 0.2%
ขณะที่ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ณ สถานี C2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำสูงสุด 3,105 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที น้อยกว่าเมื่อปี 2554 จำนวน 1,584 ลบ.ม. ต่อวินาที นั้น รัฐบาลได้สั่งการและมอบหมายให้ กอนช. บริหารจัดการตามเกณฑ์ความปลอดภัยของเขื่อนเจ้าพระยาและหลักเกณฑ์การบริหารน้ำเพื่อความปลอดภัยของเขื่อนและให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด โดยควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ +17.50 ถึง +17.70 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) เพื่อลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มการรับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันออก และลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อลดระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักก่อนลงสมทบแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งลดการรับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตกเพื่อเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ในทุ่ง หรือบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ ก่อนออกอ่าวไทย ควบคุมปริมาณน้ำ สถานี C.29A (บางไทร) ประมาณ 3,000 ลบ.ม. ต่อวินาที เพื่อบริหารความเสี่ยง ปริมาณน้ำไม่เกิน 3,500 ลบ.ม. ต่อวินาที
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ระบายน้ำออกทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกได้น้อยในช่วงที่ผ่านมา พบว่าเกิดจากปัญหาต้นคลองใหญ่ในขณะที่ปลายคลองมีขนาดเล็ก จึงจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำลงด้านท้ายของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ทำให้เกินศักยภาพของคันกั้นน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้บางจุดเกิดน้ำล้นคลองและคันคลองขาด ไม่สามารถใช้ควบคุมน้ำได้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเข้าซ่อมแซมแล้ว รวมทั้งพบปัญหาในบางจุดที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ยินยอมให้มีการเสริมคันกั้นน้ำ จึงส่งผลให้น้ำหลากแผ่กว้างในหลายพื้นที่มากขึ้นด้วย
ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงเน้นย้ำให้มีการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ข้อมูลจาก กอนช. ระบุว่า ปัจจุบันทั้งปริมาณน้ำเหนือและน้ำฝนลดลงแล้ว ส่งผลให้มีการลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา โดยสามารถควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในอัตรา 2,400 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งเร็วกว่าแผนที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาการดำเนินการในทุกแนวทาง พร้อมประเมินสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง นายอนุชาฯ กล่าว