สทนช.แจงหลักเกณฑ์จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำ รองรับภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง

สทนช. ประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การจัดทำแผนงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ รองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี66 กำชับทุกหน่วยงานเร่งพิจารณาแผนปฏิบัติการตามภารกิจและเตรียมความพร้อมโครงการให้ถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ หวังป้องกันและลดผลกระทบให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดแล้ง

วันที่ 14 พ.ย. 65 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำข้อเสนอแผนงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2566 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมเจ้าท่า กรมพัฒนาที่ดิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมประมง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร การประปาส่วนภูมิภาค สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม องค์การจัดการน้ำเสีย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่า จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 65 ได้เห็นชอบมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 จำนวน 10 มาตรการ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566

315686201 456000946641165 6013392444301210613 n
สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

การประชุมในวันนี้เพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำข้อเสนอโครงการฯ ให้กับหน่วยงานได้รับทราบ และให้หน่วยงานพิจารณาจัดทำแผนปฏิบัติการในส่วนที่เกี่ยวข้อง สำหรับใช้เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้สามารถแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ขาดแคลนน้ำหรือเสี่ยงภัยแล้งได้อย่างทันท่วงที ส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพสร้างรายได้และการจ้างแรงงานให้กับประชาชนหรือผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

โดย สทนช. ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์และคาดการณ์พื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่เป็นพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำหรือพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ส่วนพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำที่จำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ให้หน่วยงานในพื้นที่เสนอแผนงานผ่านกลไกของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด พิจารณา เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และต้องเป็นแผนงานโครงการที่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับจัดสรรงบประมาณด้วย

สำหรับการเสนอแผนงานโครงการ ได้แบ่งเป็น 5 ประเภทให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินการ ได้แก่

1.การซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ เช่น ซ่อมแซมพนังกั้นน้ำ ซ่อมแซมคันกั้นน้ำ ซ่อมแซมประตูระบายน้ำ ซ่อมแซมคลองส่ง/ระบายน้ำ ซ่อมแซมอาคารบังคับน้ำ ซ่อมแซมฝาย เป็นต้น

2.การปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ เช่น ปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้นปรับปรุงคลองส่ง/ ระบายน้ำ ปรับปรุงประตูระบายน้ำ ปรับปรุงฝาย เพื่อเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ เป็นต้น

3.การสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค–บริโภค เช่น ก่อสร้างบ่อน้ำบาดาล ปรับปรุงบ่อน้ำบาดาล ก่อสร้างระบบประปา การปรับปรุงคุณภาพน้ำประปา ก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำสำรองเพื่อการอุปโภคบริโภค การปรับปรุงคุณภาพน้ำแหล่งน้ำต้นทุน เป็นต้น

4.การเพิ่มน้ำต้นทุนเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง เช่น งานขุดลอกคลอง งานขุดลอกสระ งานก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ เพื่อการเกษตร งานระบบส่งน้ำและระบบกระจายน้ำเพื่อการเกษตร งานบ่อน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ฝนหลวง การก่อสร้างฝาย เป็นต้น

และ 5.การเตรียมความพร้อมเครื่องมือเครื่องจักร เช่น ซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำและองค์ประกอบ เป็นต้น

“แม้ว่าในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา จะมีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ แต่เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูแล้งให้ประชาชนมีน้ำใช้เพียงพอในทุกกิจกรรม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับน้ำต้นทุน เร่งกักเก็บน้ำและจัดเตรียมแหล่งน้ำสำรอง พร้อมรายงานสถานการณ์น้ำให้กับประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำช่วงฤดูแล้งปีนี้ จะเริ่มวันที่ 1 พ.ย. 65 สิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย. 66 โดยสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ (ข้อมูลวันที่ 14 พ.ย. 65) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การรวมอยู่ที่ 43,806 ล้าน ลบ.ม. หรือ 76% แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 35,993 ล้าน ลบ.ม. หรือ 75% ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,656 ล้าน ลบ.ม. หรือ 92% และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,157 ล้าน ลบ.ม. หรือ 62%” เลขาธิการ สทนช. กล่าว