“เฉลิมชัย”กำชับ กรมชลฯ เริ่มจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 65/66 พร้อมรับมือฝนใต้อย่างต่อเนื่อง

 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูแล้งของพื้นที่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมทั้งภาคกลางแล้ว  ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้กรมชลประทาน วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 65/66 ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ

istockphoto 1218382736 612x612 1
ภัยแล้ง

โดยจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรกเพื่อรักษาระบบนิเวศ  การเกษตร อุตสาหกรรม ตามลำดับ  พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือกว่า 5,382 หน่วย เฝ้าระวังในจุดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ที่สำคัญได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานเกี่ยวข้องทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เกษตรกรและประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีน้ำเพียงพอไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี65/66 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบ 

 

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ที่ยังอยู่ในช่วงฤดูฝน  กรมชลประทาน  ได้กำหนดพื้นที่เฝ้าระวังอุทกภัยใน 16  จังหวัดภาคใต้ ทั้งหมด 90 จุด  พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ   เครื่องสูบน้ำ  เครื่องผลักดันน้ำ  รถแทรกเตอร์  รถขุด  และเครื่องจักรอื่นๆ เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงรวม 1,189  หน่วย  เพื่อให้สามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์น้ำได้ทันที  รวมทั้งเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด  เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ควบคู่ไปกับการเก็บกัก  ตลอดจนดำเนินการตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65  ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

ปัจจุบัน (14 พ.ย.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 63,845  ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 84 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 39,896  ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 76  ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน  เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,813  ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 84 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 14,117  ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 78 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี  

จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 65/66 ทั้งประเทศไปแล้ว 1,659 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.)   เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 261  ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของแผนฯ  (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.) 

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์วันที่ 15 พ.ย. 65 ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี มหาสารคาม อุบลราชธานี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และนครปฐม รวม 22 อำเภอ 154 ตำบล 1,000 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 71,218 ครัวเรือน

นอกจากนี้ ปภ.ยังรายงานถึงร่องมรสุมพาดผ่านตอนล่างของภาคใต้เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน รวมถึงลมตะวันออกพัดปกคลุมภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 4 จังหวัด รวม 18 อำเภอ 75 ตำบล 278 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,388 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในจังหวัดปัตตานี รวม 3 อำเภอ 11 ตำบล 27 หมู่บ้าน