หน้าฝนจะมาแล้ว! กรมอุตุฯเตรียมประกาศอย่างเป็นทางการ

“กรมอุตุนิยมวิทยา” รายงานว่า “ฤดูฝน 2565” อย่างเป็นทางการจะเริ่มต้นสุดสัปดาห์นี้ และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 

กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ช่วงแรกฝนจะตกต่อเนื่องจนถึงต้นเดือนมิถุนายน คาดว่า ปริมาณฝนรวมในช่วงฤดูฝนจะสูงกว่าค่าปกติ ร้อยละ 3 ซึ่งต่ำกว่าปีที่ผ่านมา (ปี 64 มีฝนสูงกว่าค่าปกติ ร้อยละ 8)

จากนั้นช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคมจะเกิดฝนทิ้งช่วง ซึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์ เอลณีโญ และลานีญา

ถัดมาเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ฝนจะกลับมาตกชุกหนาแน่น เกิดฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ 

โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า จะมี “พายุหมุนเขตร้อน” เคลื่อนเข้าประเทศไทย จำนวน 2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน2565 นี้

993D832E 0388 4D80 BCA0 1EF82541B1A0

สำหรับเงื่อนไขการประกาศเข้าสู่ฤดูฝน พิจารณาจากปัจจัยทางด้านอุตุนิยมวิทยา

1. มีฝนตกชุกต่อเนื่องและครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ
2. ทิศทางลมตั้งแต่ระดับล่างใกล้ผิวพื้นถึงความสูง 3.5 กม. เปลี่ยนทิศทางเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมประเทศอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 1-2 สัปดาห์
3. ลมชั้นบน ตั้งแต่ระดับความสูง 5 กม. ขึ้นไป เปลี่ยนทิศทางเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ

4F45192A 52D1 4391 91F2 9422D7AE9E68

ขณะที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) หรือ สสน.ให้ข้อมูลว่า ลักษณะการกระจายตัวของฝนรายเดือนของประเทศในปี 2565 มีความคล้ายคลึงกับปี 2552 ที่จะมีฝนตกเร็ว จากพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

โดย ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ อธิบายว่า เมื่อเทียบปีนี้กับปี 2562 คาดว่าลักษณะฝนจะเป็นเช่นเดียวกัน คือ ปริมาณฝนรายเดือน 6 เดือนแรก ตั้งแต่มกราคม-มิถุนายน มีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม จะเริ่มมีฝนมาก ซึ่งเป็นการเกิดฝนก่อนการประกาศฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤษภาคม

   แต่ในช่วง 6 เดือนหลังจากการคาดการณ์ พบว่า ตั้งแต่เดือน สิงหาคม-พฤศจิกายนนั้น ปริมาณฝนจะน้อยลงกว่าค่าปกติเล็กน้อย ปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำตามฤดูกาลก็จะน้อยลงด้วย นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดฝนทิ้งช่วงถึง 2 ครั้ง เหมือนกับปี 2564 ในเดือนมิถุนายน และเดือนสิงหาคมแสดงให้เห็นถึงความแปรปรวนของสภาพอากาศที่คนไทยอาจจะเจอกันในปีนี้

สรุปปริมาณฝนสะสมรายวันที่ผ่านมา(8 พ.ค. – 10 พ.ค. 2565)

วันที่ 8 พฤษภาคม 2565  มีฝนตกอยู่ในเกณฑ์เล็กน้อยถึงหนักมาก

ปริมาณฝนสูงสุด(ฝนหนักมาก) วัดได้ 125.8 มม. ที่ จ.นครศรีธรรมราช

วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ปริมาณฝนลดลง

ปริมาณฝนสูงสุด(ฝนหนัก) วัดได้ 69.0 มม. ที่ กรุงเทพมหานคร

วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ปริมาณฝนเพิ่มขึ้น บริเวณภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ 

ปริมาณฝนสูงสุด(ฝนหนักมาก) วัดได้ 95.3 มม. ที่ จ.สุโขทัย