67 ปี กำเนิดฝนหลวงพระราชทานเร่งพัฒนาบุคลากร-เทคโนโลยี รับมือความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

67 ปีฝนหลวงพระราชทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเดินหน้าต่อยอดการพัฒนาบุคลากร ควบคู่การพัฒนาเทคโนโลยีงานวิจัย เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพและลดข้อจำกัดปฏิบัติการฝนหลวงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้ความผันผวนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ปีนี้เป็นปีที่ 67 ของการกำเนิดฝนหลวงพระราชทาน กรมฝนหลวงฯ มีภารกิจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับพื้นที่การเกษตร พื้นที่นอกเขตชลประทาน ภารกิจเติมน้ำในแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำที่สำคัญ และภารกิจการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น พายุลูกเห็บ

143219
ฝนหลวงพระราชทานเร่งพัฒนารับมือความเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีความผันผวนสูง เนื่องจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ฝนเริ่มไม่ตกต้องตามฤดูกาล ฝนแล้ง (ปรากฏการณ์เอลนีโญ) หรือในบางปีปริมาณฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ย (ปรากฏการณ์ลานิญา) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดินหรือการขยายพื้นที่เกษตร ดังนั้น เพื่อให้ภารกิจของกรมฝนหลวง ฯ ที่ต้องดำเนินการภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศประสบผลสำเร็จ จึงมุ่งเน้นพัฒนาต่อยอด 2 ด้านด้วยกัน คือ เพิ่มศักยภาพบุคลากรและพัฒนาเทคโนโลยีในการปฏิบัติการฝนหลวง

143211
ฝนหลวงพระราชทานเร่งพัฒนารับมือความเปลี่ยนแปลง

สำหรับการเพิ่มศักยภาพบุคลากรนั้น กรมฝนหลวง ฯ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการประชุมสัมมนาด้านวิชาการ ทักษะในการปฏิบัติงาน และฝึกอบรมในด้านที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ หลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนานักวิทยาศาสตร์ฝนหลวงเพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ หลักสูตรอบรมพัฒนาองค์ความรู้การตรวจอากาศด้วยเรดาร์ตรวจสภาพอากาศแบบส่งคลื่นสองแกน (Dual Polarization Weather RADAR)หลักสูตรพัฒนาองค์ความรู้การใช้ข้อมูลเรดาร์ตรวจอากาศฝนหลวงประจำปี หลักสูตรฝึกอบรมสัมมนาเพื่อถอดบทเรียนจากการปฏิบัติการฝนหลวง (After Action Review : AAR) เป็นประจำทุกปี หลักสูตรระบบบริหารนิรภัยการบิน (Safety Management System : SMS) หลักสูตรการบริหารทรัพยากรบุคคลทางด้านการบิน (Crew Resource Management ) เป็นต้น

ทั้งนี้เพื่อให้บุคลากรสามารถรับมือ และแก้ไขปัญหาอุปสรรค หรือข้อกำจัดของการทำงาน และผลกระทบที่เกิดจากความไม่แน่นอนของสภาพอากาศที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรให้บรรลุผลสำเร็จได้

ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีในการปฏิบัติการฝนหลวงนั้น ได้ทำการวิจัยหลากหลายมิติเพื่อให้เกิดทางเลือกในการใช้งาน อาทิ การพัฒนาระบบโปรยสารฝนหลวงบนอากาศยานร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย การพัฒนาการปฏิบัติการฝนหลวงโดยการนำอากาศยานไร้คนขับมาประยุกต์ใช้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น การพัฒนาจรวดดัดแปรสภาพอากาศสำหรับใช้ในภารกิจยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บและปฏิบัติการฝนหลวงเมฆเย็น การพัฒนาเทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่อับฝนร่วมกับกองทัพอากาศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุปกรณ์การพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ (Ground-based Generator) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังได้มีการวิจัยสารฝนหลวงทางเลือกเพื่อให้สามารถทำฝนหลวงได้ในช่วงสภาพอากาศมีความชื้นสัมพัทธ์น้อยกว่าร้อยละ 60 ได้ การพัฒนาแผนที่ความต้องการน้ำทางอากาศ เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมความแม่นยำของการวางแผนและกำหนดพิกัดพื้นที่เป้าหมายในการปฏิบัติการฝนหลวงอีกด้วย

“การพัฒนาเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างไกล เช่น บริเวณเขตเงาฝนบริเวณภาคเหนือ หรือพื้นที่ที่มีข้อจำกัดด้านการใช้อากาศยานในการปฏิบัติการทำฝนหลวง สามารถเข้าช่วยเหลือเกษตรกรได้ถูกที่ ถูกเวลา ตรงกับความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง ที่สุดแล้วจะได้ช่วยให้การบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการของประเทศมีความสมบูรณ์และทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” รองอธิบดีกรมฝนหลวง ฯ กล่าวตอนท้าย