“อ่างเก็บน้ำคลองสะพานหิน” แหล่งน้ำต้นทุนเมืองตราด พื้นที่รับประโยชน์กว่า 13,000 ไร่ สร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับเกษตรกร

กรมชลประทาน เดินหน้าพัฒนาระบบชลประทานในพื้นที่จังหวัดตราด ก่อสร้างระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองสะพานหินเพิ่มเติมเสร็จเรียบร้อย พร้อมส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์เพิ่มกว่า 13,000 ไร่

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า อ่างเก็บน้ำคลองสะพานหิน ตำบลแหลมกลัด อำเภอเมือง จังหวัดตราด เป็น 1 ใน 6 โครงการ ตามแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ จังหวัดตราด ที่กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2553 สามารถเก็บกักน้ำได้ 20 ล้าน ลบ.ม. เป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญให้แก่พื้นที่การเกษตรรอบอ่างกว่า 3,000 ไร่ ต่อมาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด ได้ขอรับการสนับสนุนการวางแผนการใช้น้ำเพื่อการเกษตรจากอ่างเก็บน้ำคลองสะพานหินเพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนด้านการเกษตรและการอุปโภคบริโภคให้ประชาชนในเขตพื้นที่โครงการฯที่ขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี

319506772 536619938512615 1828224289088874532 n
อ่างเก็บน้ำคลองสะพานหิน

กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการสำรวจออกแบบระบบส่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกด้านท้ายอ่างฯ รวมไปถึงสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยว ให้แก่อำเภอคลองใหญ่ ด้วยการก่อสร้างระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองสะพานหิน ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองสะพานหิน เพื่อการอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว ให้แก่พื้นที่อำเภอคลองใหญ่ ได้อย่างเพียงพอ รวมไปถึงพื้นที่การเกษตรด้านท้ายอ่างฯ ให้เกษตรกรได้เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์อีกกว่า 13,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลท่ากุ่ม ตำบลตะกาง ตำบลชำราก ตำบลแหลมกลัด อำเภอเมืองตราด และตำบลไม้รูด ตำบลคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ ให้กับเกษตรกร เป็นการสร้างรายได้ขยายอาชีพ และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น

รู้จัก.. อ่างเก็บน้ำ

อ่างเก็บน้ำ คือ บริเวณที่ต่ำที่น้ำไหลจากร่องน้ำหรือลำน้ำตามธรรมชาติมารวมตัวกัน โดยสร้างเขื่อนปิดกั้นระหว่างหุบเขาหรือเนินเขาสูง จนเกิดเป็นแหล่งเก็บน้ำที่มีขนาดต่าง ๆ เรียกว่า เขื่อนเก็บกักน้ำ ส่วนใหญ่มีขนาดไม่สูงมาก มักก่อสร้างโดยใช้ดินบดอัดให้แน่นเป็นตัวเขื่อน จึงเรียกว่าเขื่อนดิน ซึ่งจะเก็บน้ำฝนที่ตกในฤดูฝนไหลมารวมกัน เก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยส่งน้ำออกไปตามท่อส่งน้ำ ใช้สำหรับทำนา ปลูกผัก พืชไร่ เลี้ยงสัตว์ ใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อบริโภค และช่วยบรรเทาน้ำท่วมในฤดูฝน ทั้งนี้ งานสร้างอ่างเก็บน้ำ จะมีระบบระบายน้ำล้น และระบบส่งน้ำออกสู่พื้นที่ต่าง ๆ ด้วย

ทั้งนี้ “อ่างเก็บน้ำ” มีหลายแบบด้วยกัน

อ่างเก็บน้ำตามหุบเขา

อ่างเก็บน้ำแบบธรรมชาติตัดระหว่างหุบเขาถูกสร้างขึ้นโดยอาศัยภูมิประเทศทางธรรมชาติ โดยทั่วไปแล้ววิศวกรจะหาทำเลในการสร้างเขื่อนที่มีลักษณะแคบแต่มีพื้นที่ต้นน้ำด้านบนกว้าง ด้านข้างของหุบเขาทำหน้าที่เสมือนเป็นกำแพงทางธรรมชาติ และพื้นที่ด้านบนทางต้นน้ำทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ สถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างเขื่อนตามแนวหุบเขา จะต้องตัดสินว่าสถานที่ใดสามารถเชื่อมเขื่อนไว้กับผนังของหุบเขาและพื้นได้

ทั้งนี้เพื่อป้องกันการรั่วซึมของน้ำและถ้าหากจำเป็น มนุษย์อาจจะต้องสร้างบ้านใหม่หรือเคลื่อนย้ายสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ตัวอย่างเช่น อาบู ซิมเบล ถูกย้ายออกก่อนที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนอัสวาน (ทำให้เกิดทะเลสาบนัสซอร์ จากแม่น้ำไนล์ ในอียิปต์) ในตอนเริ่มต้นของการก่อสร้าง แม่น้ำอาจจะต้องถูกเบี่ยงทิศทางออกไปโดยผ่านอุโมงค์ เพื่อการก่อสร้างฐานราก เมื่อเสร็จสิ้นการสร้างฐานราก การสร้างเขื่อนจึงเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นเดือน หรือเป็นปี ขึ้นอยู่กับขนาดและความซับซ้อนของเขื่อน

อ่างเก็บน้ำตามแนวชายฝั่ง

อ่างเก็บน้ำชนิดนี้จะรับน้ำจากแม่น้ำที่มีหลากหลายคุณภาพและปริมาณ โดยการสูบน้ำจากแม่น้ำ บางส่วนของเขื่อนมักจะถูกสร้างจากการขุดเจาะ และบางส่วนโดยการก่อสร้างทำนบหรือทางล้อมรอบคลอง พื้นของอ่างเก็บน้ำและทางริมคลองจะต้องมีที่รองกันน้ำซึม ส่วนใหญ่ทำจากดินเลน น้ำที่ถูกเก็บจะมีระยะเวลาในการกักเก็บนานหลายเดือน เพื่อให้กระบวนการทางชีววิทยาสามารถกำจัดความขุ่นของน้ำ และลดสารเจือปนได้เป็นจำนวนมาก อ่างเก็บน้ำประเภทนี้สามารถนำน้ำออกเพื่อปิดเขื่อนในเวลาที่น้ำในแม่น้ำมีมลภาวะมากเกินไป หรือมีอัตราการไหลของน้ำต่ำในฤดูแล้ง ระบบการประปาของเมืองลอนดอนเป็นหนึ่งตัวอย่างของการใช้การกักเก็บน้ำตามแนวชายฝั่งจากแม่น้ำเทมส์ และแม่น้ำลี โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ปรากฏให้เห็นตลอดแนวไปจนถึงท่าอากาศยานลอนดอนฮีทโธรว์

อ่างเก็บน้ำเพื่อการบริการ

อ่างเก็บน้ำชนิดนี้ส่วนมากถูกสร้างเป็นหอคอย เป็นโครงสร้างที่ถูกยกขึ้นอยู่บนเสาคอนกรีต และรอบ ๆ เป็นพื้นที่ราบ บางแห่งอยู่ใต้ดิน โดยเฉพาะในประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขาและเนินเขา ในประเทศอังกฤษ อ่างเก็บน้ำใต้ดินจำนวนมากถูกสร้างขึ้นใต้เมืองลอนดอนตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ในสมัยวิกตอเรียด้วยอิฐเรียงกันเป็นชั้นหนา ๆ อ่างเก็บน้ำใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป คือ อ่างเก็บน้ำ Honor Oak ที่สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2452 หลังคาถูกค้ำด้วยเสาอิฐขนาดใหญ่และโครงสร้างโค้ง (arch) พื้นผิวภายนอกสำหรับเป็นสนามกอล์ฟ