โรงงานยางพาราในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี จ่ายค่าเสียหายให้กับชาวนา ปล่อยน้ำเสียทำนาข้าว 7 ไร่ ได้รับความเสียหาย

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า จากกรณี คพ.ได้รับเรื่องร้องเรียน พื้นที่นาข้าวของประชาชนได้รับความเสียหายเกิดจากการปล่อยน้ำทิ้งของโรงงานยางพารา บจก. กว๋างเขิ่น รับเบอร์ (แม่น้ำโขง) จ.อุดรธานี ต.นาซ่า อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี และได้มอบหมายให้ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 9 (อุดรธานี) (สคพ.9) ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่ง สคพ.9 ได้ตรวจสอบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 พบว่า โรงงานดังกล่าวปล่อยน้ำทิ้งที่มีคุณภาพเกินมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และมีค่าคุณภาพน้ำบางรายการ เช่น ค่าซัลเฟต และค่าความเค็ม เป็นต้น ค่อนข้างสูง รั่วไหลลงสู่พื้นที่นาข้าวของประชาชน 2 ราย ทำให้พื้นที่นาข้าวได้รับความเสียหาย 7 ไร่ และ สคพ.9 ได้ส่งรายงานผลการตรวจสอบไปให้ อบต. นาข่า รับทราบ และดำเนินการตามกฎหมาย รวมทั้งเสนอแนะให้มีการประชุมหารือเพื่อประเมินค่าเสียหายและเรียกค่าเสียหาย นั้น

319561228 454712586853290 1144614412041328194 n
โรงงานปล่อยน้ำเสียยอมจ่ายเงิน ทำนาข้าวเสียหาย

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า ล่าสุด อบต. นาข่า ได้เชิญผู้แทน สคพ.9 เข้าร่วมประชุมประเมินค่าเสียหายและเรียกค่าเสียหายต่อพื้นที่นาข้าวดังกล่าว โดยมีนายวิโรจน์ ศณีพันธุ์ นายก อบต.นาข่า เป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองอุดรธานี ผู้ใหญ่บ้าน ม.7 และ ม.10 ต.นาข่า พร้อมประชาชนเจ้าของพื้นที่นาข้าว 2 ราย และผู้แทน บจก. กว๋างเขิ่นฯ เข้าประชุม ซึ่งจากการประชุมได้คิดค่าเสียหายต่อต้นข้าว และค่าเสียหายที่เป็นการฟื้นฟูพื้นที่นาข้าวของประชาชน 2 ราย รวม 7 ไร่ มีค่าเสียหายต่อข้าว 37,066 บาท (คิดจากราคาประกันข้าว/ตัน x ตัน/ไร่ x ไร่) และค่าฟื้นฟูพื้นที่นาข้าว 42,000 บาท (คิดจากราคาปุ๋ยคอก 3 ตัน/ไร่ x 2,000 บาท/ตัน x 7 ไร่) รวมเป็นเงิน 79,066 บาท

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยินดีจ่ายค่าเสียหาย เป็นเงิน 60,000 บาท โดยขอต่อรองลดราคาปุ๋ยคอกที่ใช้พื้นที่นาข้าวลงเหลือ 23,000 บาท (ประมาณ 1.5 ตัน/ไร่) และประชาชนยินดีรับค่าเสียหายดังกล่าว และบริษัทฯ ได้แก้ไขปัญหาน้ำเสียโดยได้ระงับการปล่อยน้ำทิ้งออกสู่ภายนอก ทำคันดินตามแนวรั้วโรงงานที่มีสภาพมั่นคงแข็งแรงป้องกันน้ำทิ้งรั่วไหลและไหลซึมออกสู่ภายนอก และจะแยกน้ำฝนออกจากรางระบายน้ำเสียเพื่อลดปริมาณน้ำในบ่อบำบัดน้ำเสียและป้องกันน้ำทิ้งรั่วไหลออกจากระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว

ต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการทุกแห่งปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ระบายมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม ที่จะสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน คุณภาพสิ่งแวดล้อมและทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ประชาชนที่พบเห็นการปล่อยมลพิษ แจ้งมาได้ที่สายด่วน 1650 นายปิ่นสักก์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณีประชาชนได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการยางพารา เช่น การทำยางแผ่นจากน้ำยางธรรมชาติ การตัดแผ่นยาง ทำยางแผ่นรมควัน การแปรรูปยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางจากยางธรรมชาติหรือยางสังเคราะห์ ที่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเสียและปัญหากลิ่นเหม็น ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาค หลายพื้นที่ที่มีการประกอบกิจการยางพารา อีกทั้งปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นซ้ำซาก ไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อนในพื้นที่ต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน

จากปัญหาดังกล่าว กรมควบคุมมลพิษ ได้มีข้อกำหนดเงื่อนไขที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานยางพาราต้องปฏิบัติ อาทิ

-ต้องมีและใช้ระบบบำบัดน้ำเสียที่มีขนาดและประสิทธิภาพเพียงพอที่จะปรับคุณภาพน้ำทิ้งทั้งหมดของโรงงานให้มีลักษณะเป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535

– ห้ามระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณโรงงาน

– ต้องมีระบบป้องกันและกักเก็บน้ำฝนที่ตกในพื้นที่โรงงานทั้งหมด มิให้รั่วไหลออกจากพื้นที่โรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งน้ำสาธารณะ

-การกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกำจัดสิงปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548 การประกอบการทุกชนิดจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน