กรมชลประทานประชุมติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ พบฤดูแล้ง 65 /66 ปลูกข้าวนาปรังแล้วกว่า 5 ล้านไร่

วันที่ 9 ม.ค. 66 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ธเนศ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 2/2566 ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป

%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87
ข้าวนาปรัง

ดร.ธเนศ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 60,671 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 79 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 36,716 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 19,469 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุอ่างฯ ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี

และจนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 65/66 ทั้งประเทศไปแล้วกว่า 8,161 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 2,437 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 27 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.) ด้านการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้วทั้งประเทศประมาณ 5.60 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วประมาณ 4.22 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 64 ของแผนฯ

ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมทั้งภาคกลาง บริหารจัดการน้ำอย่างประณีต ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ให้ได้มากที่สุดโดยไม่กระทบต่อเกษตรกร พร้อมปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 65/66 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ที่สำคัญให้ประชาสัมพันธ์ข่าวสารสถานการณ์น้ำให้ประชาชนและเกษตรกร ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

สำหรับค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลัก ปัจจุบัน (9 ม.ค. 66) เวลา 07.00 น. ที่สถานีสูบน้ำสำแล แม่น้ำเจ้าพระยา วัดค่าความเค็มได้ 0.22 กรัม/ลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัม/ลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัม/ลิตร) ที่สถานีบางแตน แม่น้ำปราจีน-บางปะกง วัดค่าความเค็มได้ 0.08 กรัม/ลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัม/ลิตร) ที่สถานีปากคลองจินดา แม่น้ำท่าจีน วัดค่าความเค็มได้ 0.36 กรัม/ลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัม/ลิตร) และที่สถานีปากคลองดำเนินสะดวก แม่น้ำแม่กลอง วัดค่าความเค็มได้ 0.18 กรัม/ลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) ภาพรวมสถานการณ์ค่าความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุม

อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงที่พัดปกคลุมบริเวณอ่าวไทย และภาคใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลงในช่วงวันที่ 9 – 14 ม.ค. 66 ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง จะเคลื่อนตัวเข้าใกล้ปลายแหลมญวณและมีแนวโน้มอ่อนกำลังลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันต่อเหตุการณ์

พร้อมปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด เตรียมเครื่องจักร อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถแทรกเตอร์ รถขุด และเครื่องจักรอื่นๆ ตลอดจนเจ้าหน้าที่เข้าประจำพื้นที่เสี่ยง ที่สำคัญให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ในส่วนของพื้นที่ที่ปริมาณฝนลดลงแล้ว ให้ควบคุมและรักษาระดับน้ำใต้ดินในพลุให้สมดุล เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัยในพื้นที่ด้วย