กรมชลฯ ชง 1 ใน 9 แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

กรมชลประทาน เดินหน้าปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง 1 ใน 9 แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง หวังเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำช่วงฤดูน้ำหลาก หลังคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการฯ แล้ว ก่อนเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จำนวน 9 แผน โดยหนึ่งในแผนงานที่มีความสำคัญเร่งด่วน คือ โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว ก่อนเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการต่อไป

1598109

สำหรับโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เป็นการปรับปรุงขุดขยายคลองชลประทานเดิม จำนวน 26 คลอง ความยาวรวม 490 กิโลเมตร รวมทั้งก่อสร้างและปรับปรุงอาคารบังคับน้ำเพิ่มเติม บริเวณคลองต่างๆ ให้สามารถระบายน้ำได้มากขึ้น ดังนี้

  1. คลองระพีพัฒน์ ตั้งแต่ประตูระบายน้ำพระนารายณ์ ถึง ประตูระบายน้ำพระศรีเสาวภาค ความยาว 32.28 กิโลเมตร
  2. คลองระพีพัฒน์แยกตก ตั้งแต่ประตูระบายน้ำพระศรีศิลป์ ถึง ประตูระบายน้ำพระอินทร์ราชา ความยาว 36.65 กิโลเมตร
  3. คลองระพีพัฒน์แยกใต้ ตั้งแต่ประตูระบายน้ำพระศรีเสาวภาค ถึง ประตูระบายน้ำพระธรรมราชา ความยาว 28.49 กิโลเมตร
  4. คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ตั้งแต่สถานีสูบน้ำจุฬาลงกรณ์ ถึง สถานีสูบน้ำเสาวภาผ่องศรี ความยาว 40.55 กิโลเมตร
  5. คลองรังสิตประยูรศักดิ์ – คลองหกวาสายล่าง ประกอบด้วย ปรับปรุงคลอง 13, 14, 15 และ 16 ความยาวรวม 40.72 กิโลเมตร
  6. คลองหกวาสายล่าง – คลองบางขนาก ประกอบด้วย ปรับปรุงคลองหกวาสายล่าง คลอง 13, 14, 15, 16 และ 17 ความยาวรวม 79.25 กิโลเมตร
  7. คลองพระองค์ไชยานุชิต – คลองนครเนื่องเขต – คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองสาขา ความยาวรวม 132.60 กิโลเมตร
  8. คลองด่าน – คลองสำโรง และคลองสาขา ความยาวรวม 41.89 กิโลเมตร

ทั้งหมดมีแผนในการดำเนินงาน 6 ปี (พ.ศ. 2567 – 2572) หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มอัตราการระบายน้ำจากเดิม 210 ลบ.ม./วินาที เป็น 400 ลบ.ม./วินาที และยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในคลองช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้นอีก 18 ล้าน ลบ.ม./ปี และที่สำคัญสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยหรือลดมูลค่าความเสียหายจากอุทกภัยได้เฉลี่ยปีละ 5,085 ล้านบาท

1598110

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจพื้นที่เสร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2566 จากนั้นจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอใช้พื้นที่ในการดำเนินโครงการฯต่อไป