กรมชลฯซ่อมฝายสามง่าม เมืองพิจิตร เสร็จสามารถเก็บกักน้ำให้เกษตรกรใช้เพาะปลูกแล้ว

นายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิจิตร เปิดเผยว่า ตามที่ชาวบ้านอำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ร้องขอให้กรมชลประทาน เร่งซ่อมแซมบานประตูระบายน้ำฝายสามง่าม ที่ปิดกั้นในแม่น้ำยม บริเวณตำบลรังนก อำเภอสามง่าม เกิดการชำรุดเสียหายไม่สามารถยกบานประตูขึ้น เพื่อเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมได้ ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมไหลลงสู่พื้นที่ด้านท้ายฝาย จนทำให้ปริมาณน้ำทางตอนบน โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอสามง่าม ลดระดับลงอย่างรวดเร็วนั้น เบื้องต้น กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานพิจิตร ได้เร่งเข้าตรวจสอบและซ่อมแซมบานประตูดังกล่าวแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ปัจจุบันสามารถเก็บกักน้ำไว้บริเวณด้านเหนือฝายสามง่าม ให้เกษตรกรในพื้นที่ได้เพาะปลูกพืชฤดูแล้งต่อไป

325150260 575206121116561 4795704708589729755 n
ซ่อมฝายสามง่าม เมืองพิจิตรเสร็จแล้ว

กรมชลฯขุดลอกตะกอนทราย บรรเทาความเดือดร้อนชาวพะลาน จ.อุบลฯ ส่งน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้แล้ว

ด้านนายจักริน ประเสริฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านปากแซง ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 พร้อมถ่ายโอนภารกิจในการดูแล บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์ ให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลพะลาน เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา

322137092 1226874338250863 7180682517071189047 n
กรมชลฯขุดลอกตะกอนทราย บรรเทาความเดือดร้อนชาวพะลาน จ.อุบลฯ

จากการตรวจสอบพบว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดต่ำลงมาก ประกอบกับมีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งบริเวณจุดสูบน้ำเพิ่มเติม ส่งผลให้เกิดตะกอนทรายพัดวนกลับมาทับถมบริเวณจุดสูบน้ำ ทำให้ไม่สามารถสูบน้ำได้ โครงการชลประทานอุบลราชธานี ได้นำเครื่องจักรกลเข้าไปดำเนินการขุดลอกตะกอนทราย บริเวณสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าฯ ดังกล่าว เสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วานนี้ (11 ม.ค. 65) พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านปากแซง บ้านนาอาลอน และบ้านพะลาน ได้ใช้ประโยชน์ต่อไป ส่วนในระยะยาวทาง อบต.พะลาน จะดำเนินการจัดหางบประมาณ เพื่อนำไปปรับปรุงจุดสูบน้ำให้เป็นร่องรับน้ำ สำหรับป้องกันทรายพัดวนกลับมาทับถมต่อไป

โครงการฯ พลายชุมพล เร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ช่วยระบายน้ำไปยังพื้นที่ปลายคลองได้สะดวกขึ้น

ขณะเดียวกันกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีการนำเสนอข่าวว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในตำบลย่านยาว อ.เมือง จ.พิจิตร ที่ใช้น้ำจากคลองชลประทาน C 35,C 37 ร้องขอความช่วยเหลือไปถึงหน่วยงานสังกัดกรมชลประทาน ที่มีหน้าที่รับผิดชอบจุดดังกล่าว ปล่อยปละละเลยไม่บำรุงรักษาแก้ปัญหาหญ้ารก และมีต้นไม้ขึ้นในคลองชลประทานขวางทางน้ำ ทำให้การส่งน้ำไม่เพียงพอไปถึงพื้นที่ปลายคลอง สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรและชาวบ้าน นั้น

นายชัยโรจน์ พฤฒาวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล ได้ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ทางโครงการฯไม่ได้นิ่งนอนใจในปัญหาที่เกิดขึ้น ได้วางแผนเข้าไปกำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำในคลองชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำให้ดียิ่งขึ้น โดยได้เริ่มดำเนินการขุดลอกและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณคลอง C37 แล้วเสร็จตั้งแต่ช่วงวันที่ 16-19 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาแล้ว ส่วนคลอง C35 ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว คิดเป็นระยะทางกว่า 9 กิโลเมตร ยังคงเหลือระยะทางที่ต้องกำจัดอยู่อีกประมาณ 9 กิโลเมตร คาดว่าจะสามารถดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำไปจนถึงจุดที่มีการร้องเรียนได้ในอีกประมาณ 2 วันข้างหน้า พร้อมกันนี้จะเร่งดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำให้แล้วเสร็จตลอดสายภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้การส่งน้ำตามรอบเวร สามารถส่งน้ำให้ถึงพื้นที่ปลายคลองได้อย่างสะดวกและทั่วถึง ให้เกษตรกรได้ใช้เพาะปลูกพืชต่อไป