ครม.อนุมัติ 6.2 พันล้านบาท สร้างอ่างเก็บน้ำน้ำกิ จ.น่าน เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 3.55 หมื่นไร่ ช่วยประชาชนกว่า 6 พันครัวเรือน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ว่า ครม.อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกิ จังหวัดน่าน วงเงินงบประมาณ 6,200 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 7 ปี (ปีงบประมาณ 2567-2573) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคของประชาชนในฤดูแล้ง ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน รวมถึงสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวและขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดได้ 

1095659697469631071
แผนผังโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกิ

โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกิ จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านวังผา หมูที่ 2 ตำบลผาทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน มีพื้นที่รวม 1,733 ไร่ 84 ตารางวา พื้นที่โครงการตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติน้ำยาวและป่าน้ำสวดซึ่งคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติมีมติเห็นชอบให้กรมชลฯใช้พื้นที่ดังกล่าวแล้วและกรมชลประทานได้ดำเนินการรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ พร้อมเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเรียบร้อยแล้ว

โครงการนี้เป็นการก่อสร้างเขื่อนชนิดหินถมแกนดินเหนียว ความจุ 52.31 ล้านลูกบาศก์เมตร ความยาวเขื่อน 845 เมตร ความสูงเขื่อน 81.5 เมตร ความกว้างสันเขื่อน 12 เมตร พร้อมอาคารประกอบ เช่น อาคารส่งน้ำ อาคารทางระบายน้ำล้น และระบบชลประทานแบบท่อส่งน้ำและคลองส่งน้ำคอนกรีต ความยาวรวม 88.13 กิโลเมตร

สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ มีพื้นที่ชลประทานเกิดขึ้นจำนวน 35,558 ไร่ ครอบคลุม 8  ตำบล ของจังหวัดน่าน ได้แก่ ตำบลผาทอง ตำบลผาตอ ตำบลป่าคา ตำบลแสนทอง ตำบลศรีภูมิ ตำบลริม ตำบลตาลชุม และเทศบาลตำบลท่าวังผา และมีประชาชนได้รับประโยชน์ 6,305 ครัวเรือน

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่าโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกิ จ.น่าน มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและกรมชลประทานได้ออกแบบท่อส่งน้ำและอาคารโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไว้ด้วยแล้ว ดังนั้น เพื่อประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยรอบ ที่ประชุมเห็นควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์บูรณาการร่วมกับกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำหรือพลังแสงอาทิตย์ของโครงการด้วย โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุดของโครงการเป็นสำคัญ

กรมชลฯ เดินหน้าสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำกิ แหล่งน้ำแห่งใหม่ชาวเมืองน่าน ทันควัน หลัง ครม.อนุมัติโครงการฯ

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในวันนี้(17 ม.ค. 65) คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้กรมชลประทาน ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกิ จังหวัดน่าน ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) เสนอ เพื่อสร้างแหล่งน้ำต้นทุนแห่งใหม่ให้ชาวเมืองน่าน เก็บกักน้ำได้ 52.31 ล้าน ลบ.ม. โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 แล้วเสร็จตามแผนในปี 2573 จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรในเขตพื้นที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีกกว่า 16,000 ไร่ และสนับสนุนน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานเดิมอีกกว่า 19,558 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 8 ตำบลของอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน นอกจากนี้จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่ออุปโภคบริโภค และช่วยรักษาระบบนิเวศในพื้นที่ โดยประชาชนจะได้รับประโยชน์กว่า 6,300 ครัวเรือน ช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ที่มากขึ้นให้กับเกษตรกร และยังพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนในพื้นที่

เดินหน้าปรับปรุงระบบชลประทาน บรรเทาอุทกภัยพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันตก

อีกความเคลื่อนไหวหนึ่ง กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก หวังเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการระบายน้ำทั้งระบบในแนวเหนือ-ใต้ รองรับปริมาณน้ำหลากในพื้นที่ตอนบน และยังช่วยเสริมศักยภาพการเก็บกักน้ำไว้ในแก้มลิงสำหรับใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้ง

324573105 681014243765650 3833847271964769256 n

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ ให้กรมชลประทานดำเนินโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็น 1 ใน 9 แผนงานของแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป

สำหรับโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก จะเป็นการปรับปรุง/ขุดลอกคลอง งานอาคารบังคับน้ำ งานก่อสร้างคลองถนน งานก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ และงานปรับปรุงคันควบคุมน้ำทะเลและอาคารประกอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนออกสู่ชายทะเลอ่าวไทย ซึ่งจะช่วยลดภาระการระบายน้ำออกสู่แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยให้กับพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างอีกทางหนึ่งด้วย โดยมีแผนดำเนินโครงการ 4 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2568 – พ.ศ. 2571 ประกอบด้วย

1. งานปรับปรุง/ขุดลอกคลองในแนวเหนือ-ใต้ และอาคารบังคับน้ำ ช่วงตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ถึง คลองพิทยาลงกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนออกสู่ชายทะเลอ่าวไทยระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร

2. งานปรับปรุงคลองเดิมระยะทาง 6.16 กิโลเมตร และก่อสร้างคลองถนน (Street Canal) บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 5 ระยะทาง 4.41 กิโลเมตร และก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองแนวลิขิต 1 (ระบายน้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ ลงสู่คลองภาษีเจริญ) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.00 เมตร ความยาว 6.99 กิโลเมตร อัตราการสูบน้ำรวม 30 ลบ.ม./วินาที

3. งานก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด เพื่อระบายน้ำจากคลองภาษีเจริญลงสู่คลองมหาชัย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6.00 เมตร ความยาว 11.71 กิโลเมตร อัตราการสูบน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที

4. งานปรับปรุงคันควบคุมน้ำทะเลพร้อมอาคารประกอบแนวคันแก้มลิงคลองมหาชัย–คลองสนามชัย ความยาว 42.06 กิโลเมตร รวมทั้งปรับปรุง/ขุดลอกคลองมหาชัย ความยาว 19.42 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำในแก้มลิง และระบายน้ำออกจากแก้มลิงคลองมหาชัย–คลองสนามชัยลงสู่ทะเล

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมชลประทานได้ดำเนินการออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากนี้จะประสานงานและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความพร้อมก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติดำเนินโครงการต่อไป ซึ่งหากโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะช่วยระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบนผ่านโครงข่ายคลองในแนวเหนือ-ใต้ และยังสามารถเพิ่มศักยภาพในการเก็บกักน้ำและระบายน้ำของพื้นที่แก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย รวมทั้งยังสามารถเพิ่มปริมาณการระบายน้ำลงสู่ทะเลในพื้นที่ตอนล่างบริเวณชายทะเล และยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในคลองสำหรับใช้ในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย