รมว.เกษตรฯ ขับเคลื่อนงานพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดพังงา พร้อมเร่งรัดให้จ่ายเงินค่าชดเชยที่ดินและผลอาสินของโครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศงวดแรกภายในมิถุนายนนี้
วันนี้ (19 พ.ค. 65) ที่จังหวัดพังงา ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการในเขตจังหวัดพังงา เพื่อติดตามความก้าวหน้าและขับเคลื่อนงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในส่วนของกรมชลประทาน มีนายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน นายปริญญา สัคคะนายก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 และนายสุริยพล นุชอนงค์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย
นาย ชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้พัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานในพื้นที่จังหวัดพังงา เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภคบริโภค การเกษตรและการท่องเที่ยว ที่เป็นรายได้หลักของจังหวัด รวม 166 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 60,960 ไร่แบ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดเล็ก 151 โครงการ โครงการพระราชดำริ ได้แก่ ฝายทดน้ำ 7 แห่งอาคารอัดน้ำอีก 3 แห่ง และโครงการชลประทานขนาดกลาง เป็นฝายทดน้ำอีก 5 แห่ง
ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดพังงา กรมชลประทาน ยังได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำแล้วเสร็จ ได้แก่การปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย ระยะ 2 เริ่มต้น กม.1+790 – กม.5+825 ฝายคลองนางย่อนตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี, โครงการฝายคลองบางม่วง (แห่งที่ 1) ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า และโครงการฝายบ้านท่านา ตำบลท่านา อำเภอกะปง ช่วยบรรเทาทั้งปัญหาขาดแคลนน้ำ และอุทกภัยในพื้นที่ได้เป็นอย่างมาก
ในส่วนของโครงการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการฝายคลองสวนพลูพร้อมระบบส่งน้ำ ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี ผลงานคืบหน้าแล้วประมาณร้อยละ 2 หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ให้ราษฎรในพื้นที่ได้กว่า 600 ครัวเรือนและพื้นที่การเกษตรอีก 300 ไร่
นอกจากนี้ยังมีโครงการปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย ระยะ 3 เริ่มต้น กม.5+825 – กม.12+135 เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้ประมาณ 7,500 ไร่ ราษฎรประมาณ 2,700 คน และอีกหนึ่งโครงการที่สำคัญ คือ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ ตำบลบางเหรียง อำเภอทับปุด ความจุเก็บกัก 5.60 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว (ปี 2565-2568) หากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนไว้ใช้เสริมการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝนในช่วงที่เกิดฝนทิ้งช่วง และสนับสนุนการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งของฝายลำไตรมาศ พื้นที่รับประโยชน์กว่า 6,350 ไร่ ที่สำคัญจะเป็นแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคของราษฎรในพื้นที่อำเภอทับปุดและพื้นที่ใกล้เคียง ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่โครงการ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจให้กับราษฎรและนักท่องเที่ยวอีกด้วย
กรมชลประทาน ยังมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมระหว่างปี 2566-2570 ได้แก่ โครงการปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำสายใหญ่และสายแยกขวา ฝายคลองทับยาวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอกะปง, โครงการฝายบ้านกะปง อำเภอกะปง, โครงการฝายบ้านปากพู่ อำเภอกะปง และโครงการอ่างเก็บน้ำลำรูใหญ่ ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง เก็บกักน้ำได้ประมาณ 12.78 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างประกาศรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วม ตามบทบัญญัติมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 หากดำเนินการก่อสร้างได้แล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในเขตอำเภอท้ายเหมือง และอำเภอตะกั่วป่า ประชากรรวม 5,200 ครัวเรือน ส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 1,200 ไร่ ในเขตตำบลลำแก่น ที่สำคัญจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อย่างเพียงพอ
ในการนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้เร่งรัดให้จ่ายเงินค่าชดเชยที่ดินและผลอาสินของโครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ งวดที่ 1 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2565 นี้พร้อมสั่งการให้เดินหน้าเตรียมความพร้อมงานก่อสร้างฝายบ้านกะปง และฝายบ้านปากพู่ ให้สามารถขอตั้งงบประมาณได้ในปี 2567 ส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำรูใหญ่ ขอให้เร่งรัดติดตามกระบวนการขออนุญาตใช้พื้นที่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถเริ่มจ่ายเงินค่าชดเชยได้ในปีงบประมาณ 2567 และเริ่มก่อสร้างในปี 2568 – 2570