กรมชลฯบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2566 อย่างเต็มศักยภาพ

วันที่ 30 มกราคม 2566 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “การบริหารจัดการน้ำ และการเตรียมความพร้อมรับมือภัยแล้ง ปี 2566” ในรายการ “เกษตร…ต่อยอด” ผ่านทาง Facebook Live : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

327995027 1610582539382164 4694389484085259597 n
บริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในฤดูฝนปี 2565 ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 โดยใช้ระบบชลประทานอย่างเต็มศักยภาพ และการช่วยเหลือด้านเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รวมทั้งสิ้น 2,260 หน่วย ครอบคลุม 58 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย และหลังจากน้ำลด ยังได้ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ เข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

327602358 1288937061665972 7916540269871052629 n
บริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2566

ในส่วนของปริมาณน้ำต้นทุนจากการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ทำให้ ณ วันที่ 1 พ.ย. 2565 ทั้งประเทศมีน้ำต้นทุนรวมทั้งสิ้น 64,000 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2564 กว่า 5,495 ล้าน ลบ.ม. / เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา ที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,770 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2564 กว่า 6,330 ล้าน ลบ.ม. ด้านลุ่มแม่กลอง ใช้น้ำต้นทุนจาก 2 เขื่อนหลัก (เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 22,000 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2564 กว่า 1,349 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2565/66 ได้ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2565/66 ตามที่ ครม.ได้เห็นชอบไว้เมื่อ 1 พ.ย. 2565 โดยทั้งประเทศวางแผนจัดสรรน้ำไว้ทั้งสิ้น 43,740 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งประมาณ 27,685 ล้าน ลบ.ม. หรือ 63% ของแผนฯ ส่วนที่เหลือจะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนอีกประมาณ 16,055 ล้าน ลบ.ม. หรือ 37% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา วางแผนจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลักรวม 14,074 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งประมาณ 9,100 ล้าน ลบ.ม. หรือ 62% ของแผนฯ และอีก 5,474 ล้าน ลบ.ม. หรือ 38% ของแผนฯ จะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน

ด้านการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ได้วางแผนการเพาะปลูกไว้ทั้งประเทศประมาณ 10.42 ล้านไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกไปแล้ว 8 ล้านไร่ หรือ 76% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังไว้ 6.64 ล้านไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 5.6 ล้านไร่ หรือ 84% ของแผนฯ

อธิบดีกรมชลประทาน ยังได้กล่าวอีกว่า กรมชลประทาน ได้วางแผนการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำอย่างเพียงพอทุกกิจกรรม ด้วยการจัดสรรน้ำแบบปราณีต จัดรอบเวรการส่งน้ำ การปรับปฏิทินการเพาะปลูก เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนฤดูน้ำหลาก ซึ่งได้ดำเนินการใน 2 พื้นที่ ได้แก่ โครงการบางระกำโมเดล เริ่มส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. เพื่อให้เก็บเกี่ยวได้ภายใน ส.ค. และพื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง จะเริ่มส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวได้ภายในเดือน ก.ย. ช่วยลดความสูญเสียของผลผลิตทางเกษตรในฤดูน้ำหลาก

นอกจากนี้ ยังได้มีการเร่งซ่อมแซมอาคารชลประทาน และระบบชลประทานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ให้สามารถบริหารจัดการน้ำและส่งน้ำในฤดูแล้งได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างการรับรู้และการประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำผ่านช่องทางต่างๆ ไม่น้อยกว่า 17,000 ครั้ง เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจแก่เกษตรกรและประชาชน

ด้านการเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ เราได้เตรียมเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกลสนับสนุนอื่น ๆ อีก 5,382 หน่วย เพื่อให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในฤดูแล้งนี้ ทั้งยังมีการจ้างแรงงานชลประทาน เพื่อสร้างรายได้เสริมเกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานไปแล้วกว่า 17,000 คน นอกเหนือจากการบริหารจัดการน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำทั้งในฤดูฝน และฤดูแล้งแล้ว การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ถือเป็นหัวใจในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน กรมชลประทานได้ดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญๆ ในหลายพื้นที่ อาทิ ลุ่มน้ำชี เน้นการเก็บกักน้ำต้นทุนให้ได้มากที่สุดในบริเวณตอนบนของลุ่มน้ำชี เป็นการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 5 โครงการฯ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชร อ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ (ลำกระจวน) อ่างเก็บน้ำลำเจียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 5 แห่ง จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้อีก 240 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์กว่า 188,000 ไร่

ส่วนพื้นที่กลางน้ำ-ปลายน้ำ เป็นการหน่วงน้ำและเร่งระบายน้ำ ในตอนกลางและตอนล่างของลุ่มน้ำ ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งสิ้น 94 โครงการ รวมทั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 184 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 73,692 ไร่ ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนและความมั่นคงด้านน้ำในลำน้ำชี อีกทั้งโครงการต่างๆ ยังจะเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำในลำน้ำชีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการแก้ปัญหาอุทกภัย และภัยแล้งซ้ำซากในพื้นที่ลำน้ำชีได้อย่างยั่งยืน

ด้านลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เป็นการขุดคลองระบายน้ำ เพื่อผันน้ำเลี่ยงตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเมื่อรวมกับขีดความสามารถในการระบายน้ำที่มีอยู่เดิม จะสามารถระบายน้ำได้รวมทั้งหมด 2,930 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีผลการดำเนินการไปแล้ว 26% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก สร้างความมั่นคงด้านน้ำ และบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอีกหลายโครงการ เช่น โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ที่จะสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ที่จะสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับภาคตะวันออกและเขต EEC ซึ่งทั้งหมดนี้ กรมชลประทาน มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ให้กับพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอและยั่งยืนต่อไปในอนาคต