กรมชลประทานเร่งสร้างระบบผันน้ำลำปะทาวฝั่งตะวันออก ช่วยบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ -เก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำเพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งและส่งเสริมภาคการเกษตรกว่า 18,610 ไร่

กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ ระยะที่ 1 เพิ่มศักยภาพคลองผันน้ำลำปะทาวฝั่งตะวันออก บรรเทาปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองชัยภูมิและเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ส่งเสริมภาคการเกษตรกว่า 18,610 ไร่

326403804 2457229277764359 7685081924277196706 n
เร่งสร้างระบบผันน้ำลำปะทาวฝั่งตะวันออก

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2553 ปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำลำปะทาวและห้วยยางบ่าล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เขตเทศบาลเมืองชัยภูมิอย่างสาหัส เนื่องจากมีลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งรับน้ำ ทำให้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและเศรษฐกิจอย่างมาก กรมชลประทาน จึงได้เดินหน้าศึกษาเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำลำปะทาวและห้วยยางบ่า เพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ หวังยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเข้าตัวเมืองจังหวัดชัยภูมิในช่วงน้ำหลาก โดยเฉลี่ยประมาณ 325 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที แต่มีศักยภาพการระบายน้ำเพียง 145 ลบ.ม./วินาที จึงมีแนวทางเพื่อแก้ปัญหา 4 ระยะ ด้วยการวางแผนออกแบบทั้งระบบคลองและประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมน้ำในลำปะทาวและลำห้วยสาขาต่างๆ

327022637 735668231463195 1266429924847572555 n
เร่งสร้างระบบผันน้ำลำปะทาวฝั่งตะวันออก

ปัจจุบันกรมชลประทานได้ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ระยะที่ 1 ด้วยการก่อสร้างระบบผันน้ำลำปะทาวฝั่งตะวันออก เพื่อตัดยอดน้ำส่วนเกินไม่ให้ไหลเข้าท่วมตัวเมืองชัยภูมิ ประกอบด้วย การขุดขยายคลองผันน้ำลำปะทาว-สระเทวดา สามารถระบายน้ำได้ 150 ลบ.ม./วินาที ซึ่งคืบหน้าแล้วกว่า 33% และมีการก่อสร้างคลองเชื่อมลำปะทาว-ห้วยดินแดง เพื่อช่วยผันน้ำอีกประมาณ 50 ลบ.ม./วินาที ซึ่งดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและใช้งานแล้วในช่วงน้ำหลากปี 2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การก่อสร้างมีระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2563-2567) หากดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการ จะเป็นตัวช่วยในการเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำหลากและสามารถรองรับการระบายน้ำลงสู่ลำน้ำชีได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำ เพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งและส่งเสริมภาคการเกษตรกว่า 18,610 ไร่ ได้อย่างยั่งยืน

ส่วนโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ อีก 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 2 การพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อชะลอน้ำหลาก ระยะที่ 3 ก่อสร้างระบบผันน้ำห้วยยางบ่า-ลำชีลอง เพื่อตัดมวลน้ำหลากเลี่ยงเมืองด้านฝั่งตะวันตก และระยะที่ 4 การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำหลากให้ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำชีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม

กรมชลฯ ประชุมติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ

.วันเดียวกัน (30 ม.ค. 66) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบVideo Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป

.

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (30 ม.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 58,002 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 76 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 34,060 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 18,333 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 74 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 11,637 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำทั้งประเทศไปแล้วกว่า 11,155 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 3,761 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ42 ของแผนฯ(แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.)

ในส่วนของสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำ 4 สายหลัก ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา , แม่น้ำท่าจีน , แม่น้ำปราจีน-บางปะกง และแม่น้ำแม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ

.

สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกไปแล้ว 7.96 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 76 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 5.56 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 84 ของแผนฯ โดยพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังตามการปรับปฏิทินการเพาะปลูกเต็มพื้นที่แล้ว คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดซึ่งเป็นไปตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 65/66 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กำหนด ทั้งนี้ได้กำชับโครงการชลประทานในพื้นที่ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้

.

ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้นั้น กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน จะทำให้ระหว่างวันที่ 2-3 ก.พ. 66 ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ พร้อมปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ทั้งการจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถแทรกเตอร์ รถขุด และอื่น ๆ เข้าประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยง รวมไปถึงการกำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ที่สำคัญให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด