สทนช.เดินหน้าศึกษาแผนบูรณาการแก้ปัญหาน้ำท่วม/ภัยแล้งซ้ำซาก พื้นที่เฉพาะ (AreaBased) เชียงใหม่-ลำพูน เล็งดัน 6 โครงการนำร่องแก้ปัญหาวิกฤต

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการ เพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (AreaBased) เชียงใหม่-ลำพูน ว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มอบหมายให้ สทนช. จัดทำแผนแม่บทแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ กำหนดพื้นที่เฉพาะหรือ AreaBased พื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม/ภัยแล้งซ้ำซากหรือปัญหาอื่น ๆ ของทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาวิกฤตรวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายของรัฐบาลและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ทั้งหมด 66 พื้นที่ ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี

327308523 573778291341156 2776773258193776963 n
แก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งซ้ำซาก เชียงใหม่ ลำพูน

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ เป็น 1 ใน 66 พื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งอยู่ในเกณฑ์สูง จึงต้องเร่งดำเนินการหามาตรการแก้ไขปัญหาเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นรูปธรรม มีความยั่งยืนทุกมิติ ทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่ง สทนช. ได้ทำการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการในพื้นที่เฉพาะ เชียงใหม่-ลำพูน มุ่งเน้นศึกษาและทบทวนโครงการที่แก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันและแผนงานโครงการในอนาคตในพื้นที่เป้าหมายจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำมาบูรณาการกันให้โครงการต่าง ๆ สอดคล้องและสนับสนุนกัน ไม่ซ้ำซ้อน มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง

327455404 885599045984678 4751570422973144309 n
แก้น้ำท่วม ภัยแล้ง ซ้ำซาก เชียงใหม่ ลำพูน

จากผลการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการ พื้นที่เฉพาะเชียงใหม่-ลำพูน มีโครงการที่แก้ปัญหาในพื้นที่ 3,375 โครงการ แบ่งเป็นโครงการในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 2,162 โครงการ และโครงการในลำพูน จำนวน 1,213 โครงการ โดยจะแบ่งการดำเนินการออกเป็นระยะเร่งด่วน 2-3 ปี (พ.ศ.2566-2567) ระยะสั้น 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) ระยะกลาง 5-10 ปี (พ.ศ.2571-2575) และระยะยาว 10-20 ปี (พ.ศ.2576-2585)

ทั้งนี้มีโครงการที่สำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำอุปโภคบริโภคในจังหวัดเชียงใหม่ โดยการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน จำนวน 11 แห่ง ในอำเภอแม่อายและอำเภออมก๋อย 2.โครงการแก้ไขปัญหา การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต โดยการพัฒนาขุมเหมืองตำบลดงดำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน 3.โครงการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัยโดยปรับปรุงระบบระบายน้ำบริเวณแยกต้นพยอมและถนนห้วยแก้ว 4.โครงการแก้ไขปัญหาการจัดการด้านคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยการปรับปรุงลำน้ำและภูมิทัศน์คลองแม่ข่า 5.โครงการแก้ไขปัญหาการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน โดยการพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยผึกเพื่อบรรเทาไฟป่า และ 6.โครงการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการ โดยการบริหารจัดการน้ำแม่กวง

เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่บริเวณโครงการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็น 1 ในโครงการเร่งด่วนของแผนบูรณาการ โดยข้อมูลจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 จะพบว่าน้ำในคลองแม่ข่ามีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมาก มีสารปนเปื้อนตกค้างอยู่หลายชนิดและมีค่าสูงกว่าปกติ ทั้งยังมีสีขุ่นดำและมีกลิ่นเหม็น สาเหตุหลักมาจากการขยายตัวของชุมชนเมืองโดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งมีชุมชนเข้ามาอาศัยอย่างหนาแน่น มีการรุกล้ำลำน้ำ ทิ้งขยะ ระบายน้ำทิ้งจากอาคารบ้านเรือนและสถานประกอบการ ทำให้น้ำเสีย ระบบนิเวศน์ถูกทำลาย

ดังนั้น การแก้ปัญหาเร่งด่วนคือการจัดการด้านคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยการก่อสร้างระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียครอบคลุมพื้นที่ 8 อปท. พร้อมกับการปรับปรุงลำน้ำและภูมิทัศน์คลองแม่ข่าตลอดทั้งสาย ซึ่งเมื่อโครงการดำเนินการแล้วเสร็จจะส่งผลให้คุณภาพน้ำในคลองแม่ข่าดีขึ้นและมีความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย สะดวกต่อการบำรุงรักษา ทำให้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมความสวยงามของคลองแม่ข่า ส่งผลดีกับชุมชนที่อยู่ 2 ฝั่งลำน้ำ สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนริมคลองให้ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีหลายภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่าอยู่แล้ว แต่ยังขาดการบูรณาการ ดังนั้นจึงเป็นภารกิจสำคัญที่ สทนช. จะต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไขเชิงบูรณาการและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำเหมืองจี้ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม สนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตร เป็นอีกหนึ่งโครงการเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันตัวฝายได้รับความเสียหายจากน้ำหลากในลำน้ำแม่ทา ส่งผลให้ไม่สามารถทดน้ำเข้าลำเหมืองเพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรได้ ทำให้ราษฎรในพื้นที่ประมาณ 3,200 ไร่ จำนวน 168 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภค

ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำ จำนวน 5 ช่อง สามารถระบายน้ำได้ 450 ลบ.ม./วินาที วิกฤต 250 ลบ.ม./วินาที อาคารป้องกันตลิ่งด้านเหนือน้ำและด้านท้ายน้ำ พร้อมระบบส่งน้ำ เมื่อก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำเหมืองจี้ พร้อมระบบส่งน้ำแล้วเสร็จ จะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรในเขตพื้นที่โครงการประมาณ 6,900 ไร่ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในลำน้ำแม่ทาบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตพื้นที่โครงการ และราษฎรในเขตพื้นที่โครงการ จำนวน 3,648 ครัวเรือน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีผลผลิตและรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้น โดยแผนงานเร่งด่วนที่วางไว้ ได้แก่ โครงการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการ โดยการบริหารจัดการน้ำแม่กวง ซึ่งจะเป็นโครงการที่แก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำในลำน้ำกวง ที่มีลักษณะโครงการคล้ายกับประตูระบายน้ำเหมืองจี้ ซึ่งจะส่งผลให้สิ่งปลูกสร้างในลำน้ำแม่กวงมีประสิทธิภาพสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตร