กรมชลฯ ลุยสร้าง 6 อ่างฯ ลุ่มน้ำชีตอนบน ลดท่วม-ป้องแล้ง อีสานกลาง

กรมชลประทาน เดินหน้าพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน ลุยสร้าง 6 อ่างเก็บน้ำ มุ่งแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างเป็นระบบ สร้างแหล่งเก็บกักเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชาวชัยภูมิ พื้นที่รับประโยชน์รวมกว่า 192,000 ไร่

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้เร่งรัดโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน ซึ่งเป็นลุ่มน้ำสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากลำน้ำชีเป็นลำน้ำสายหลัก ที่ไหลผ่าน 9 จังหวัด ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี หนองบัวลำภู และอุดรธานี ที่ มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 16,405 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งปัจจุบันมีแหล่งน้ำเก็บกักน้ำขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนลำปาวและ อ่างขนาดกลาง จำนวน 69 แห่ง ปริมาณเก็บกัก 5,015 ล้าน ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นประมาณ 30% ของปริมาณน้ำท่าทั้งหมด

333279506 1516354138774409 1925434566441303265 n
กรมชลฯ ลุยสร้าง 6 อ่างฯ ลุ่มน้ำชีตอนบน

และด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นที่ราบสูง และลักษณะลำน้ำที่มีความคดเคี้ยว บางช่วงกว้าง บางช่วงแคบ ทำให้ในฤดูแล้งก็ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค การเกษตร และกิจกรรมอื่น ๆ ในขณะที่ฤดูฝนเกิดภาวะน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ กรมชลประทาน จึงได้วางแผนดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในระยะยาว ประกอบด้วยโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ 6 อ่างในจังหวัดชัยภูมิ ได้แก่ (1) อ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชร อ.หนองบัวระเหว มีความจุ 43.70 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว ใช้เป็นแหล่งน้ำช่วยเหลือการอุปโภคบริโภคของราษฎรในบริเวณโครงการฯ และบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ อ.เทพสถิต อ.หนองบัวระเหว อ.บ้านเขว้า อ.จตุรัส อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ และ อ.แก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา รวมพื้นที่รับประโยชน์ 28,000 ไร่ (65 หมู่บ้าน 16 ตำบล 6 อำเภอ 2 จังหวัด) จำนวนครัวเรือน 11,094 ครัวเรือน

(2) อ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.หนองบัวแดง ความจุ 46.90 ล้านลบ.ม. ระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี (2562-2567) เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ถึง 40,000 ไร่ เป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ครัวเรือนรับประโยชน์ 5,145 ครัวเรือน

(3) อ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรืออ่างเก็บน้ำยางนาดีเดิม อ.บ้านเขว้า อ.หนองบัวระเหว ความจุ 70.21 ล้านลบ.ม. ระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี (2562-2567) เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนสถานีสูบน้ำตามลำน้ำชีตั้งแต่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำชีในเขต จ. ชัยภูมิ นครราชสีมา และขอนแก่น มีพื้นที่เกษตรสองฝั่งลำน้ำชีได้รับประโยชน์ฤดูฝน 75,000 ไร่ และในฤดูแล้ง 30,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.หนองบัวระเหว อ.บ้านเขว้า และ อ.เมืองชัยภูมิ อีกทั้งสนับสนุนการใช้น้ำตามลำน้ำชีตอนบนให้มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดปี ช่วยชะลอน้ำไม่ให้ไหลลงด้านล่างเร็วเกินไป บรรเทาอุทกภัยบริเวณพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(4) อ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ (ลำกระจวน) อ.ซับใหญ่ ความจุ 33.45 ล้าน ลบ.ม ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี (2563-2566) เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อพื้นที่ชลประทานฝั่งขวาลำน้ำชี 15,000 ไร่ และพื้นที่ชลประทานตำบลท่ากูบ 3,000 ไร่ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ของประชาชนในพื้นที่โครงการและใกล้เคียง และส่งเสริมอาชีพประมงให้ราษฎร

(5) อ่างเก็บน้ำลำเจียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ภักดีชุมพลและหนองบัวแดง ความจุ 45.17 ล้าน ลบ.ม ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (2564-2568) หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนพื้นที่การเกษตรในฤดูฝนได้ 30,000 ไร่ และในฤดูแล้งอีกประมาณ 10,000 ไร่ เป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ ช่วยบรรเทาอุทกภัยด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในพื้นที่ได้อีกด้วย

(6) อ่างเก็บน้ำบ้านคลองเจริญ อ. หนองบัวแดง ความจุ 6.77 ล้าน ลบ.ม. มีแผนการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2568 ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (2568-2571) เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อใช้ในการเกษตรและการอุปโภคบริโภค บรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งมีพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการในช่วงฤดูฝน 4,000 ไร่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาวางโครงการ

ทั้งนี้ หากดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 6 โครงการ จะสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 246.20 ล้านลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์รวม 192,000 ไร่

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวย้ำว่า การพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำชีตอนบนจะเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความมั่นคง เพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำ ลดการขาดแคลนน้ำ และจะช่วยบรรเทาภัยในฤดูน้ำหลาก ลดความเสียหาย พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นต่อไป