โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหากลุ่มเรือประมงพื้นบ้านปิดอ่าวคลองปากบาราโดยด่วน

วันที่ 2 มีนาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบถึงปัญหากลุ่มเรือประมงที่ใช้เครื่องมือพาณิชย์กว่าร้อยลำ ปิดอ่าวคลองปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ไม่ให้มีการเดินเรือเข้าออก เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหากรณีต้องหยุดเรือ เนื่องจากในทะเลมีกฎหมายทับซ้อนกัน 2 ฉบับ คือกฎหมายประมงและกฎหมายอุทยานแห่งชาติ ทำให้เรือประมงขนาดเล็กเครื่องพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดไม่เกิน 25 ตันกรอสไม่สามารถออกทำมาหากินได้กว่า 1 เดือน ซึ่งการปิดอ่าวเรือประมงดังกล่าวจนส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวนั้น 

IMG 65633 20230302092229000000 scaled
นายอนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เข้าไปหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยด่วน โดยให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมไปถึงการดูแลนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ให้สามารถเดินทางขึ้นฝั่ง-ข้ามไปเกาะและให้ทันกับเที่ยวบิน เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย และไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วย

ด้านพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า การที่ประมงพื้นบ้านออกมาชุมนุมกันเป็นเรื่องของความเข้าใจผิด เพราะแม้ตำรวจ และอุทยาน จะประกาศบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด แต่ตอนนี้ยังไม่มีนโยบายที่จะดำเนินการจับกุมประมงพื้นบ้าน เพราะเข้าใจได้ว่า การทำประมงพื้นบ้าน เป็นการทำประมง เพื่อการยังชีพ และเครื่องมือที่ใช้ ที่ไม่กระทบต่อทรัพยากรชายฝั่ง โดยที่ผ่านมาได้หารือร่วมกันกับทางกรมอุทยานฯ และมีการกำหนดขอบเขตการผ่อนผันทำประมงบางจุดให้ชาวเลเข้าไปหาปลาได้ เพื่อการยังชีพ 

จากการสำรวจพบว่า จ.สตูล มีเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กอยู่ 6,800 กว่าลำ แต่เรือที่ออกมาประท้วงอยู่ในขณะนี้มีอยู่ประมาณ 80 ลำในวันแรกและลดลงมาเหลือ 40 ลำในวันที่สอง

ส่วนสาเหตุที่ต้องจับกุมเรือประมงพาณิชย์และไม่สามารถผ่อนผันได้ เนื่องจากพื้นที่อุทยานฯ มีความหลากหลายทางชีวภาพ หากปล่อยให้เรือประมงพาณิชย์ เข้ามาลักลอบทำประมง จะสร้างความเสียหาย ทั้งระบบนิเวศน์ และการท่องเที่ยว ไม่ต่างจากปล่อยปละให้มีการสร้างโรงแรม รุกพื้นที่อุทยานฯ 

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการดำเนินคดีกับเรือประมง 27 ลำ จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย อย่างจริงจัง เนื่องจากตรวจสอบ VMS พบว่า เรือประมงเหล่านี้ ทำประมงในเขตหวงห้าม หรือเขตอุทยานและยังใช้เครื่องมือที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำวัยอ่อนและปะการัง ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้แจ้งดำเนินคดีกับเรือกลุ่มนี้ไปแล้ว ที่สน.บางเขน เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา มีโทษจำคุก 5 ปีและปรับไม่เกิน 500,000 บาท