นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมงกล่าวว่า ด้วยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 รายการเจาะลึกทั่วไทย รายงานข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบและผลักดันเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ SUN FLOWER 7 ออกนอกราชอาณาจักรไทย ซึ่งในการรายงานข่าวดังกล่าว ได้กล่าวหาว่ากรมประมงเห็นด้วยกับตัวแทนสายเรือ ชิปปิ้ง หรือโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ ในการขอนำเข้าปลาทูน่า และเพิกเฉยต่อข้อมูลสนับสนุนของ EJF นั้น
กรมประมงเห็นว่าในการรายงานข่าวมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงค่อนข้างมาก กรมประมงจึงขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้
1. การดำเนินการควบคุมตรวจสอบเรือ SUN FLOWER 7 ที่ขอเข้าเทียบท่าในประเทศไทย เป็นอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่กรมประมง ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 95 และ 96 โดยตามมาตรา 96 กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้เรือประมงนั้นออกจากราชอาณาจักรได้ภายในเวลาที่กำหนด และแจ้งให้รัฐเจ้าของธงหรือประเทศอื่นที่เกี่ยวข้อง และองค์การระหว่างประเทศเพื่อทราบ ในกรณีที่เรือไม่อาจจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย
2. เรือ SUN FLOWER 7 เป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ สัญชาติเกาหลีใต้ ซึ่งรับปลาทูน่ามาจากเรือจับสัตว์น้ำต่าง ๆ ที่ทำประมงหรือจับปลาโดยได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง โดยเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 เรือSUN FLOWER 7 ได้ยื่นแบบคำร้องขอนำเรือประมงต่างประเทศเข้าเทียบท่า (AREP) พร้อมด้วยเอกสารต่าง ๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อนพิจารณาอนุญาตให้เรือเข้าเทียบท่า
3. เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 กรมประมงได้รับรายงานจากมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม(EJF) ว่าเรือขนถ่ายสัตว์น้ำลำดังกล่าวมีเส้นทางการเดินเรือที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยในการวางแพล่อสัตว์น้ำ (FAD) ในพื้นที่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมาธิการการประมงแปซิฟิกตะวันตกและแปซิฟิกกลาง(WCPFC) และต่อเนื่องเข้าไปในเขต EEZ ของสาธารณรัฐคิริบาส โดยไม่ได้รับอนุญาต
4. เรือ SUN FLOWER 7 เดินทางมาถึงท่าเทียบเรือ 23A เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมประมงร่วมกับกรมศุลกากรได้ขึ้นตรวจสอบเรือตามขั้นตอนการดำเนินการควบคุมตรวจสอบเรือประมงต่างประเทศ และสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเส้นทางการเดินเรือซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสงสัยตามข้อมูลของ EJF โดยมิได้เพิกเฉยต่อข้อมูลของ EJF แต่อย่างใด ซึ่งในการตรวจสอบครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่จาก EJF เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย จากการตรวจสอบ ผู้ควบคุมเรือได้แจ้งว่าเรือได้เก็บทุ่นสัญญาณลอยน้ำที่ใช้เป็นเครื่องมือของ FAD ไม่ได้วาง FAD ตามข้อสงสัยของ EJF
5. อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการดังกล่าวมิได้เป็นการฝ่าฝืนต่อข้อกำหนดของWCPFC กรมประมงจึงดำเนินการประสานสาธารณรัฐเกาหลี WCPFC และสาธารณรัฐคิริบาส เพื่อยืนยันความถูกต้องก่อน และยังไม่ได้อนุญาตให้ขนถ่ายสัตว์น้ำและนำเข้าสัตว์น้ำจากเรือลำนี้แต่อย่างใด
6. หลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2566 เป็นต้นมา กรมประมงได้ติดต่อประสานงานไปยังสาธารณรัฐเกาหลี ในฐานะรัฐเจ้าของธง สาธารณรัฐคีรีบาส ในฐานะรัฐชายฝั่ง และ WCPFC เพื่อตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของการเก็บทุ่นสัญญาณลอยน้ำของเรือลำนี้ ซึ่งกระบวนการตรวจสอบของแหล่งข้อมูลต้องใช้ระยะเวลาในการรอผลการตรวจสอบ ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงาน ได้ทยอยตอบกลับข้อมูลชี้แจงมายังกรมประมง โดยสาธารณรัฐเกาหลีชี้แจงว่าเกาหลีไม่มีข้อบังคับใด ๆ เกี่ยวกับการเก็บทุ่นสัญญาณลอยน้ำของเรือขนถ่าย จึงไม่จำเป็นต้องรายงานต่อรัฐเจ้าของธง และยืนยันว่าสัตว์น้ำที่มากับเรือขนถ่ายSUN FLOWER 7 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำประมง IUU โดยระยะเวลาผ่านไปพอสมควร แต่กรมประมงยังไม่ได้รับความชัดเจนในการพิสูจน์ความถูกต้อง และไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการทำประมง IUU
7. กรมประมงเห็นควรให้ผลักดันให้เรือ SUN FLOWER 7 ออกนอกราชอาณาจักรไทย จึงเสนอให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำประมงและแรงงานในภาคประมง (อ.2) พิจารณาในประเด็นนี้ ซึ่งเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ประชุมอ.2 มีมติให้เรือ SUN FLOWER 7 ชี้แจงความถูกต้องพร้อมแนบเอกสารหลักฐาน ภายใน 30 วัน หากมีความประสงค์ที่จะขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำ หรือหากไม่มีความประสงค์จะขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำ ให้อธิบดีกรมประมงใช้อำนาจตามมาตรา 96 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สั่งให้เรือออกนอกราชอาณาจักรภายในระยะเวลาที่กำหนด
8. กรมประมงจึงมีหนังสือสอบถามไปยังตัวแทนสายเรือ และได้รับการตอบกลับเมื่อวันที่ 1 มีนาคม2566 ว่าเรือไม่มีความประสงค์จะขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำ และขออนุญาตนำเรือ SUN FLOWER 7 ออกนอกราชอาณาจักรไทย
9. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 อธิบดีกรมประมงจึงสั่งให้เรือออกนอกราชอาณาจักรไทยภายใน 7 วัน หลังจากที่ได้รับหนังสือ ซึ่งเรือได้เดินทางออกจากท่าเทียบเรือเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 โดยมีเจ้าหน้าที่กรมประมงร่วมตรวจสอบเรือกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
10. ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการดำเนินการทุกกระบวนการเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชกำหนดการประมง มาตรา 96 ที่ให้อำนาจอธิบดีกรมประมงเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งให้เรือที่ต้องสงสัยหรือเรือที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกี่ยวข้องกับการทำประมง IUU หรือไม่ ออกนอกราชอาณาจักร มิได้เป็นอำนาจของหน่วยงานอื่นแต่อย่างใด สรุปคือ การเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของเรือ SUN FLOWER 7 เป็นไปตามคำสั่งของอธิบดีกรมประมง
11. กรมประมงขอยืนยันว่าในทุกกระบวนการของการตรวจสอบเรือประมงต่างประเทศ กรมประมงยังคงปฏิบัติตามข้อกำหนดภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อย่างเคร่งครัด พิจารณาด้วยความรอบคอบ โปร่งใส และสอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามหลักการของPSMA โดยที่ผ่านมากรมประมงได้มีความร่วมมือที่ดีในการดำเนินการเพื่อต่อต้านการทำประมง IUU ร่วมกับองค์กร EJF และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มาโดยตลอด
ดังนั้น การที่รายการเจาะลึกทั่วไทยเสนอข่าวดังกล่าว คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง อีกทั้งยังให้เครดิตกับบุคคลอื่นซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชกำหนดการประมง ทำให้กรมประมงได้รับความเสียหาย กรมประมงจึงจำเป็นต้องชี้แจงตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น