นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้เตรียมรับฤดูน้ำหลากปี 66 ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย ด้วยการปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีหรือโครงการบางระกำโมเดล ในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ให้เร็วขึ้นกว่าปกติ เพื่อลดผลกระทบผลผลิตเสียหายในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยในปีนี้เป็นการดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องสู่ปีที่ 7 ซึ่งในปีที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้จัดสรรน้ำไปยังพื้นที่เป้าหมาย 265,000 ไร่ ปริมาณน้ำจัดสรร 310 ล้าน ลบ.ม. ให้เกษตรกรได้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จเป็นไปตามแผนที่กำหนด ทำให้ไม่มีพื้นที่ได้รับความเสียหายจากน้ำหลากแต่อย่างใด สำหรับในปีนี้ กรมชลประทาน จะเริ่มทยอยปล่อยน้ำเข้าระบบส่งน้ำในวันนี้ (15มี.ค.66) ซึ่งจะมีพิธีปล่อยน้ำอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 มีนาคม 2566 ที่จะถึงนี้
กรมชลประทานจัดทำแผนงานบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้เร่งรัดดำเนินการ แผนบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีมติเห็นชอบในหลักการ และแผนพัฒนาแหล่งน้ำสำคัญและมีความจำเป็นเร่งด่วนฝั่งตะวันออกได้แก่ แผนงานที่ 1 โครงการปรับปรุงระบบชลประทาน เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและน้ำแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ด้วยการปรับปรุงระบบชลประทานตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนพระราม 6 ถึงคลองชายทะเล
โดยเป็นการปรับปรุงขุดขยายคลองชลประทานเดิม จำนวน 26 คลอง ความยาวรวม 490 กิโลเมตร รวมทั้งก่อสร้างและปรับปรุงอาคารบังคับน้ำเพิ่มเติม บริเวณคลองต่างๆ ให้สามารถระบายน้ำได้มากขึ้น ระยะดำเนินการไว้ 6 ปี (พ.ศ.2567-2572) หากสามารถดำเนินการได้จนแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มอัตราการระบายน้ำจากเดิม 210 ลบ.ม./วินาที เป็น 400 ลบ.ม./วินาที เป็นแหล่งเก็บกักน้ำในคลองสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม./ปี ที่สำคัญจะช่วยบรรเทาอุทกภัยและลดพื้นที่น้ำท่วมได้มากถึง 276,000 ไร่ และลดมูลค่าความเสียหายจากอุทกภัยได้เฉลี่ยปีละ 5,085 ล้านบาท
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้เตรียมความพร้อมวางแผน เร่งรัดการดำเนินการตามแผนการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผน โดยเฉพาะโครงการคลองระบายน้ำชัยนาท-ป่าสัก, ป่าสัก-อ่าวไทย และบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยพื้นที่ ทั้งนี้ โครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท- ป่าสัก- อ่าวไทย ซึ่งเป็นแผนระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำหลาก ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำของคลองชัยนาท- ป่าสักได้ประมาณ 930 ลบ.ม./วินาที คู่ขนานกับคลองส่งน้ำเดิมอีก 130 ลบ.ม./วินาที มีการก่อสร้างเขื่อนพระรามหกแห่งใหม่ทดแทนเขื่อนพระรามหก ที่มีอายุการใช้งานมาเกือบ 100 ปี รวมทั้งก่อสร้างคลองระบายน้ำป่าสัก-อ่าวไทย ที่จะใช้ระบายน้ำต่อเนื่องจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ที่จะช่วยตัดยอดน้ำหลากในแม่น้ำป่าสักได้ประมาณ 600 ลบ.ม./วินาที ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตอำเภอท่าเรือ รวมถึงพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร จนถึงจังหวัดสมุทรปราการ
“อย่างไรก็ดี กรมชลประทาน จะเร่งดำเนินการโครงการฯ ให้แล้วเสร็จตามแผน ตามข้อสั่งการของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจติดตามแผนบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมทั้งสั่งเดินหน้าก่อสร้างโครงการระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทรให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ พร้อมกำชับให้ซ่อมแซมอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานเพื่อเตรียมรับฤดูน้ำหลากที่จะมาถึง”อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แผนงานบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน ได้แก่
1.โครงการปรับปรุงระบบชลประทาน เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง
2.โครงการคลองระบายน้ำหลาก เจ้าพระยาฝั่งตะวันออก แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงคลองชัยนาท-ป่าสัก และช่วงคลองป่าสัก-อ่าวไทย
3.โครงการคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3
4.โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก
5.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา
6.โครงการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ
7.โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร
8.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ แม่น้ำท่าจีน
9.โครงการพื้นที่รับน้ำนอง