กรมชลฯรุกแก้ไขปัญหาอุทกภัยเจ้าพระยาใหญ่ มุ่งบรรเทาปัญหาน้ำท่วมระยะยาว

วันที่ 28 มี.ค.66 ณ ห้องประชุม 501 ศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา นายวรพจน์ เพชรนรชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 นายฐนันดร์ สุทธิพิศาล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วนในพื้นที่เจ้าพระยาใหญ่ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม

338369027 1491000787971045 620948937911276290 n
แก้ไขไขปัญหาอุทกภัยเจ้าพระยาใหญ่

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเหตุอุทกภัยในลุ่มเจ้าพระยาในปี 2565 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบประมาณ 2.8 ล้านไร่ ใน 16 จังหวัดภาคกลาง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่ง จึงได้ร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมประมง กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กำหนดแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา ระยะเวลาการดำเนินงาน 3 ปี โดยมีเป้าหมายหลักในการตัดยอดน้ำรวม 3,000 ล้าน ลบ.ม. สำหรับในปีแรกได้ตั้งเป้าตัดยอดน้ำรวม 1,000 ล้าน ลบ.ม.

338364503 163510956591249 7577146046303993453 n
แก้ไขไขปัญหาอุทกภัยเจ้าพระยาใหญ่

โดยในส่วนของ กรมชลประทาน ได้กำหนดแผนดำเนินงานในโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วนในพื้นที่เจ้าพระยาใหญ่ ปี 2566-2568 อาทิ แก้มลิง ขุดลอก ระบบระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ อาคารบังคับน้ำ ฯลฯ รวมทั้งสิ้น 112 โครงการ โดยในปี 2566 มีโครงการฯ ที่ได้รับงบประมาณในการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 7 โครงการ และอยู่ในระหว่างการเสนองบประมาณอีก 1 โครงการ ซึ่งกรมชลประทานจะเร่งดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด เมื่อหากดำเนินโครงการในปี 66 แล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถตัดยอดน้ำรวมได้ถึง 420 ล้าน ลบ.ม. ช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนได้เป็นอย่างมาก

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศ ช่วงวันที่ 28 – 29 มี.ค. 66  โดยระบุว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ส่งผลให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทย และทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ 

ส่วนในช่วงวันที่ 30 มี.ค. – 3 เม.ย. 66 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
                

สำหรับลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้ ตลอดช่วง

ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นไว้ด้วย ตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 28 – 29 มี.ค. 66 ขอให้ประชาชนในบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย