สยบข่าว..กรมชลฯยันจัดสรรน้ำให้กับประชาชนบริเวณริมลำห้วยคุก หนองคาย ใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรเพียงพอฤดูแล้งนี้

กรมชลประทาน ยืนยันมีการจัดสรรน้ำให้กับประชาชนบริเวณริมลำห้วยคุก เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตร เพียงพอจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตในฤดูแล้งนี้ได้ หลังมีการนำเสนอข่าวน้ำในลำห้วยคุกแล้งจนขาดแคลนน้ำทำการเกษตร

นายปริญญา คัชมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5 ได้เปิดเผยถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า โครงการชลประทานหนองคาย ร่วมกับผู้ใหญ่บ้านโพนงาม ตำบลบ้านถ่อน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และนายพิกุล อุ่นจาน ตัวแทนกลุ่มเกษตรกร เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น พบว่าพื้นที่ดังกล่าว กรมชลประทานได้เข้าไปช่วยเหลือมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง สูบน้ำจากแม่น้ำโขง บริเวณจุดบรรจบลำห้วยคุกกับแม่น้ำโขง ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2566 และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง เพื่อสูบน้ำจากหนองแสน ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2566 ไปเติมให้กับลำห้วยคุก

%E0%B8%8A%E0%B8%A5338720676 1683252372110615 8545444781279822728 n
กรมชลฯยันลำห้วยคุกมีน้ำใช้เพียงพอ

นอกจากนี้ ยังได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพิ่มเติม โดยการใช้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า บ้านท่ามะเฟือง ตำบลโพนสา อำเภอทำบ่อ จังหวัดหนองคาย สูบน้ำจากแม่น้ำโขงผ่านระบบส่งน้ำมาเติมลงในลำห้วยคุกอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งได้มีการประสานงานกับองค์การบริหารส่วนตำบลโพนสา ขอให้ดำเนินการสูบน้ำช่วยเหลือมาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ทั้งนี้ จากจุดสูบน้ำทั้ง 3 จุด ทำให้สามารถจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ได้อย่างเพียงพอจนเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงฤดูแล้งนี้ได้

%E0%B8%8A%E0%B8%A5338413708 929386721534951 3631746863625170832 n
กรมชลฯยันลำห้วยคุกมีน้ำใช้เพียงพอ

นอกจากนี้ โครงการชลประทานหนองคาย ได้วางแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวด้วยการวางแผนงานก่อสร้างระบบสูบน้ำจากแม่น้ำโขงมาเติมลงในบริเวณหน้าประตูระบายน้ำห้วยเวียงคุกเพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ประจำปี พ.ศ. 2567 เพื่อดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าปริมาณฝนในปีนี้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย กรมชลประทานได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศติดตามสภาพอากาศและแนวโน้มปริมาณฝนอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการวางแผนบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนที่จะถึง โดยให้ทุกโครงการดำเนินการสำรวจความพร้อมของอาคารระบายน้ำ ความมั่นคงของเขื่อน และอ่างเก็บน้ำต่างๆเพื่อใช้ในการกักเก็บน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือประชาชนให้ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูแล้ง ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด และให้หน่วยงานในพื้นที่บริหารจัดการน้ำอย่างประณีต ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือไปยังประชาชนกลุ่มผู้ใช้น้ำ และทุกภาคส่วน ให้ช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอสำหรับทุกกิจกรรม