กรมชลฯ เดินหน้าปรับปรุงชลประทานขนาดกลาง จ.น่าน หวังแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างยั่งยืน

กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดน่าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงการฯ ให้สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และปัญหาอุทกภัย ที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างครอบคลุมและยั่งยืน

339269229 3315188775410665 5467686826514022055 n
เดินหน้าปรับปรุงชลประทานขนาดกลาง จ.น่าน

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงการชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดน่าน ได้ดำเนินการก่อสร้างและใช้งานมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้อาคารหัวงาน ระบบชลประทาน และระบบระบายน้ำของโครงการฯ อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม อีกทั้งความต้องการใช้น้ำ ทั้งภาคการเกษตร และภาคส่วนอื่น ๆ ได้เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการอุปโภคบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ปัญหาน้ำท่วมที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นต้น ทำให้อาคารหัวงานของโครงการเดิม ไม่สามารถรองรับ และแก้ไขปัญหาได้อย่างเต็มศักยภาพ กรมชลประทาน จึงได้มีการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดน่าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการฯ ให้สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาอุทกภัยได้อย่างยั่งยืน โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการรวม 450 วัน ตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. 2566 และมีกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 2 เม.ย. 2567 นี้

339426220 242930514963530 1601164889143865106 n
เดินหน้าปรับปรุงชลประทานขนาดกลาง จ.น่าน

สำหรับขอบเขตพื้นที่การศึกษาฯของโครงการ ครอบคลุมพื้นที่โครงการชลประทานขนาดกลางรวม 12 โครงการ ใน 8 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเวียงสา ได้แก่ ฝายฝา อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำฮิ อ่างเก็บน้ำห้วยชื่นพร้อมระบบส่งน้ำ อำเภอเมืองน่าน ได้แก่ ฝายสมุน อำเภอปัว ได้แก่ ฝายน้ำย่าง ฝายน้ำปัว อำเภอเชียงกลาง ได้แก่ ฝายน้ำกอน อำเภอภูเพียง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยแฮต อำเภอสันติสุข ได้แก่ อ่างเก็บน้ำน้ำพง อำเภอนาน้อย ได้แก่ อ่างเก็บน้ำน้ำแหง อำเภอท่าวังผา ได้แก่ อ่างเก็บน้ำน้ำริม พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฝายน้ำยาว พร้อมระบบส่งน้ำ พื้นที่รับประโยชน์โครงการรวม 60,482 ไร่

ด้านนายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางในการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ โดยการจัดทำแผนหลักการพัฒนาหรือปรับปรุง และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ การประเมินและศึกษาความเหมาะสม ด้วยการศึกษาทางเลือกของโครงการและเหตุผลประกอบ การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาโครงการ ที่ครอบคลุมองค์ประกอบทางสิ่งแวดล้อมและคุณค่าต่าง ๆ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ ตลอดจนศึกษาวิเคราะห์ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐศาสตร์ของโครงการ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งได้มีการจัดการประชุมปฐมนิเทศโครงการฯ ระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการแนะนำโครงการ พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้โครงการสามารถรองรับและตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาอุทกภัย และภัยแล้ง ให้กับชาวจังหวัดน่านได้อย่างครอบคลุมในทุกมิติ