สทนช.ถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าจับตาฝนทิ้งช่วง มิ.ย. – ก.ค. นี้ กางแผน กนช. เตรียมรับมือล่วงหน้าคู่ขนานไปกับการช่วยเหลือภัยแล้งในพื้นที่

ดร. สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ได้มีการประชุมหารือการประเมินสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมส่งเสริมการเกษตร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การประปาส่วนภูมิภาค กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และ สทนช. ภาค 1-4 ณ ห้องประชุมน้ำปิง ชั้น 4 สทนช. และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อคาดการณ์สภาพอากาศโดยได้คาดหมายว่าปีนี้มีแนวโน้มจะเกิดปรากฏการณ์เอลนินโญ่ชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ซึ่งอาจทำให้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติในพื้นที่ตอนกลางของประเทศ

341260946 202682369175874 4990867018983993344 n
สทนช.ถกหลายหน่วยงานรับมือภัยแล้ง

สำหรับการคาดการณ์ปริมาณฝน พบว่า ฤดูฝนของประเทศจะเริ่มต้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคมหรือช้ากว่าประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งใกล้เคียงกับฤดูกาลปกติ โดยในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคมปริมาณฝนจะใกล้เคียงกับค่าปกติ ขณะที่ เดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ฝนบริเวณประเทศไทยจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5-10 และอาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเกิดขึ้นได้ ส่วนในเดือนสิงหาคม ฝนรวมของประเทศไทยยังคงน้อยกว่าค่าปกติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้ามาหรือมีผลกระทบต่อประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณฝนบริเวณประเทศไทยดีขึ้น แต่ในเดือนกันยายนพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงถึงต่ำกว่าค่าปกติ

อย่างไรก็ตาม สทนช.ได้เสนอมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 เพื่อเตรียมการรองรับไว้ล่วงหน้า โดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มีมติเห็นชอบการเตรียมการรับมือสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง เช่น การคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยง การเตรียมพร้อม/ วางแผนเครื่องจักร เครื่อง มือ บุคลากร ประจำพื้นที่ การปรับปรุงวิธีการส่งน้ำในพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง รวมถึงการเร่งเก็บกักน้ำในแหล่งนทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน เป็นต้น ซึ่งดำเนินการคู่ขนานไปกับการแก้ปัญหาพื้นที่ที่เกิดปัญหาภัยแล้งในช่วงนี้ โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือสำหรับการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ดร. สุรสีห์ กล่าวว่า “ปีนี้เป็นปีที่มีโอกาสเสี่ยงปัญหาภัยแล้ง ทุกหน่วยงานจึงต้องวางแผนการใช้น้ำที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ต้องเตรียมการรับมือต่อสถานการณ์อย่างทันท่วงที รวมถึงต้องมีการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด ซึ่ง สทนช.จะติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อวางกรอบแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น”