ซ้อมใหญ่ “พระราชพิธีพืชมงคลฯ”  ปลัดเกษตรฯ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา เทพีคู่หาบทอง เทพีคู่หาบเงิน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายต่าง ๆ เข้าร่วมการซ้อมใหญ่ฯ ปี 66 ก่อนวันจริง 17 พ.ค. นี้

ซ้อมใหญ่ “พระราชพิธีพืชมงคลฯ” : นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา เทพีคู่หาบทอง เทพีคู่หาบเงิน ผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ และคู่เคียงในกระบวนแห่อิสริยยศพระยาแรกนา  พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายต่าง ๆ ทั้งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และผู้แทนหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักพระราชวัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เข้าร่วมการซ้อมใหญ่พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2566 ก่อนวันจริงที่จะมีขึ้นในวันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2566 ที่จะถึงนี้ ตามฤกษ์พิธีไถหว่าน ระหว่างเวลา 08.09-08.39 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

%E0%B8%8B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88 6
ซ้อมใหญ่ “พระราชพิธีพืชมงคลฯ”
%E0%B8%8B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88 3
ซ้อมใหญ่ “พระราชพิธีพืชมงคลฯ”
%E0%B8%8B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88 5
ซ้อมใหญ่ “พระราชพิธีพืชมงคลฯ”

ความเป็นมาของพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

         

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในสมัยโบราณ  คงจะเป็นพิธีที่มีความมุ่งหมายเพื่อบำรุงขวัญและเตือนเกษตรกรให้ปลูกพืชผลโดยเฉพาะการทำนา เพราะข้าวเป็นธัญญาหารหลักสำคัญยิ่งในการดำรงชีวิต  พระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศจึงเป็นผู้นำลงมือไถนาและหว่านพืชพันธุ์ธัญญาหารเป็นตัวอย่าง  เพื่อเตือนราษฎรว่าถึงเวลาทำการเพาะปลูกแล้ว

         

ต่อมา เมื่อพระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศมีพระราชภารกิจอื่น  จึงโปรดแต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คือ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ให้ไปปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ เรียกว่า พระยาแรกนา ทำหน้าที่ไถนาและหว่านธัญพืช พระมเหสีหรือพระชายาที่เคยร่วมไถนาหว่าน ก็เปลี่ยนเป็นท้าวนางในราชสำนัก ออกไปทำหน้าที่หาบกระบุงพันธุ์พืชช่วยพระยาแรกนา เรียกว่า เทพี

         

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีชนหลายเชื้อชาติที่ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน ได้แก่  อินเดีย จีน และกัมพูชา สำหรับประเทศไทยนั้น มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยและได้ปฏิบัติสืบต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

 พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่กระทำในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีแต่พิธีพราหมณ์ตามแบบสมัยอยุธยา  ไม่มีพิธีสงฆ์

         

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มพิธีสงฆ์ร่วมในพิธีด้วย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารที่นำมาตั้งในมณฑลพิธี ก่อนจะนำไปไถหว่าน เรียกพระราชพิธีนี้ว่า พระราชพิธีพืชมงคล  เมื่อรวมพระราชพิธี ๒ พระราชพิธี เรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ  เป็นราชประเพณีสืบมา จัดการพระราชพิธี ๒ วัน  วันแรก คือ พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีสงฆ์ วันรุ่งขึ้น คือ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์

         

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีสิริมงคล เพื่อบำรุงขวัญเกษตรกร จึงได้กำหนดวันประกอบพระราชพิธีในวันดีที่สุดของแต่ละปี  โดยเลือกวันขึ้นแรมฤกษ์ยามอันเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์  และอยู่ในระหว่างเดือน ๖ ทางจันทรคติ  พระราชพิธีนี้จึงไม่ได้กำหนดวันในแต่ละปีตามปฏิทินได้แน่นอน   ตามปกติแล้ววันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะอยู่ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี   การที่กำหนดในเดือน ๖ ก็เพราะเป็นเดือนที่เริ่มเข้าฤดูฝนเป็นระยะเวลาเหมาะสมสำหรับเกษตรกร คือ ชาวนาจะได้เตรียมทำนาอันเป็นอาชีพหลักของไทยมาแต่โบราณ   เมื่อโหรหลวงคำนวณวันอุดมมงคลฤกษ์แล้ว สำนักพระราชวังจะลงพิมพ์ในปฏิทินหลวงที่พระราชทานในวันปีใหม่ทุกปี   โดยกำหนดว่า วันใดเป็นพระราชพิธีพืชมงคล วันใดเป็นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งได้กำหนดเป็นวันสำคัญของชาติ  คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นวันหยุดราชการและประกาศให้มีการประดับธงชาติ