นายกฯ มั่นใจการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2565/66 เป็นไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมกำหนดแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2566 ควบคู่การรับมือปรากฏการณ์เอลนีโญ

วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มั่นใจว่ากรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการตามแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2565/66 และการปฏิบัติการดำเนินการในช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ส่งผลให้ในเขตพื้นที่ชลประทานมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้ง กำหนดแนวทางรับมือฤดูฝนในปี 2566 เน้นย้ำการปฏิบัติตาม 12 มาตรการอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการรับมือปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ซึ่งเป็นความผันเเปรของสภาพอากาศในมหาสมุทร ตลอดจนเน้นการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต 

IMG 68282 20230518082017000000
อนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกรัฐบาล



โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งในปี 2564/65 (สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565) จัดสรรน้ำทั้งประเทศไว้รวมทุกกิจกรรม 22,280 ล้านลูกบาศก์เมตร สำรองน้ำต้นฤดูฝน 15,557 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้านการเพาะปลูกฤดูแล้งทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกรวมกว่า 8.11 ล้านไร่ โดยกรมชลประทาน สามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ได้อย่างเต็มศักยภาพ ด้วยการจัดสรรน้ำอย่างประณีต ภายใต้มาตรการรับมือฤดูฝนในปี 2565 ทั้ง 13 มาตรการ ทำให้ในเขตพื้นที่มีน้ำใช้เพียงพอ โดยในปัจุบันพบว่า การจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งในเขตพื้นที่มีน้ำใช้เพียงพอ และไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ อีกทั้งยังทำให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนมากกว่าแผนที่วางไว้อีกด้วย 

ช่วงฤดูแล้งในปี 2565/66 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 – 30 เมษายน 2566) ไว้ทั้งสิ้น 27,685 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาจัดสรรน้ำไว้ประมาณ 9,100 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร อุตสาหกรรม รวมไปถึงการควบคุมค่าความเค็มและคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ ภายใต้มาตรการฤดูแล้งปี 2565/66 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สำหรับด้านการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2565/66 มีการเพาะปลูกรวม 10.38 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยารวม 6.35 ล้านไร่ ซึ่งเป็นไปตามแผนการเพาะปลูกที่วางไว้เช่นกัน 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงฤดูฝนปี 2566 พบว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมนี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 และมีโอกาสสูงที่พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน 2566 พร้อมเดินหน้าเน้นย้ำโครงการชลประทานทั่วประเทศ ปฏิบัติตาม 12 มาตรการฤดูฝนปี 2566 ของ กอนช. รวมไปถึงเตรียมรับมือกับอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ น้ำท่า และกำหนดผู้รับผิดชอบพื้นที่เสี่ยงที่ได้รับผลกระทบ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันติดตามสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้รับรู้ เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนจัดสรรทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และอื่น ๆ ที่ประจำอยู่ทั่วประเทศรวม 5,382 หน่วย ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลาอีกด้วย

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำอย่างครอบคลุม ด้วยการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความปลอดภัย ปกป้องวิถีชีวิต และทรัพย์สิน รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน พร้อมสั่งการเน้นย้ำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงสถานการณ์น้ำอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที” นายอนุชาฯ กล่าว