กรมชลฯเดินหน้ารับมือฤดูฝนปี 2566 เน้นย้ำปฏิบัติตาม 12 มาตรการฤดูฝน

 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ณ วันที่ 18 พ.ค. 66 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 42,216 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯรวมกัน สามารถรองรับปริมาณน้ำได้รวมกันประมาณ 30,463  ล้าน ลบ.ม.  เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,494 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯรวมกัน สามารถรับน้ำได้รวมกันประมาณ 10,903  ล้าน ลบ.ม.

                     

347805262 946695999852442 3238155371378533939 n
กรมชลฯเดินหน้ารับมือฤดูฝน

ขณะนี้ได้สิ้นสุดการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี65/66 แล้ว  ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมชลประทานในฐานะหน่วยงานปฏิบัติได้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างรัดกุม โดยจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก และปฏิบัติตาม 10 มาตรการฤดูแล้งปี 2565/66 อย่างเคร่งครัด นำมาสู่ 6 แนวทางปฏิบัติ ได้แก่ บริหารน้ำในอ่างฯ  การจัดหาแล่งน้ำสำรอง  การตรวจสอบความต้องการ  การจัดสรรตามกิจกรรมหลัก  การสำรองน้ำเก็บกักไว้ต้นฤดูฝน และการประเมินผลและประชาสัมพันธ์ ทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามเป้าประสงค์ เกษตรกรและพี่น้องประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม ที่สำคัญไม่มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ง ทั้งยังสามารถควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลักได้เป็นอย่างดี  ผลจากการบริหารจัดการน้ำอย่างประณีต รัดกุม ทำให้ปัจจุบันเรามีปริมาณน้ำสำรองในต้นฤดูฝนถึง 20,000 ล้าน ลบ.ม. จากแผนที่วางไว้ 16,000 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าแผนที่กำหนด

                       

660500003887
กรมชลฯเดินหน้ารับมือฤดูฝน

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2566 ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับสถานการณ์ มีการปรับปฏิทินการเพาะปลูกในทุ่งบางระกำ และ 10 ทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง  เพื่อให้พื้นที่ลุ่มต่ำเหล่านี้ได้ทำการเพาะปลูกและสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง ช่วยลดความเสียหายต่อผลผลิต  ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้ปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 อย่างเคร่งครัด ด้วยการกำหนดมาตรการรับมือสถานการณ์อุทกภัย กำหนดพื้นที่ กำหนดคน และจัดสรรทรัพยากร รวมทั้งประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ผู้เกี่ยวข้องและพี่น้องประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง การให้ความสำคัญการบริหารจัดการน้ำโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ลดผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรและประชาชนให้ได้มากที่สุด