กรมทรัพยากรน้ำฯ ผนึกกำลัง สถาบันปิดทองหลังพระฯ เสริมงบประมาณ 39.88 ล้าน แก้ “แล้ง-ท่วม ซ้ำซาก” 9 จังหวัดลุ่มน้ำมูล

กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลัง สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เสริมงบ 39.88 ล้าน ในโครงการซ่อมแซมเสริมศักยภาพแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็ก กว่า 132 โครงการ ใน 9 จังหวัดลุ่มน้ำมูลเพื่อแก้ปัญหา น้ำแล้ง น้ำท่วมซ้ำซากในปีงบประมาณ2566 – 2570 และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำให้เกษตรกรต่อยอดอาชีพในชุมชนได้อย่างยั่งยืนพร้อมขยายโครงการต่อยังจังหวัดอื่น ๆ ที่มีความพร้อมต่อไป

จากพื้นที่ลุ่มน้ำมูล 9 จังหวัด ในภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซาก หากได้รับการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็กให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพ ด้วยการซ่อมแซมฝายที่ชำรุด วางระบบท่อและคลองส่งน้ำ ติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ และสนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซมปรับปรุงแหล่งน้ำชุมชน ที่จะเป็นพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจและสังคมฐานรากในชุมชนชนบท ให้สามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง รวมทั้งเป็นภูมิคุ้มกันให้สามารถรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใดก็ตาม

%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B33
แก้ “แล้ง-ท่วม ซ้ำซาก” 9 จังหวัดลุ่มน้ำมูล

โดยรูปแบบการดำเนินงานโครงการซ่อมแซมเสริมศักยภาพแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็ก จะเน้นกระบวนการทำงานของสถาบันปิดทองหลังพระฯ ที่น้อมนำแนวพระราชดำริ ว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำชุมชน พร้อมบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และชุมชน โดยเฉพาะชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ เช่น ร่วมประชาคม ร่วมสละแรงงานในการซ่อมแซมแหล่งน้ำของตนเอง และทางสถาบันปิดทองหลังพระฯ จะสนับสนุนวันสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือ ในการดำเนินงาน โดยมีผู้นำชุมชน องค์กรท้องถิ่น หน่วยงานราชการให้ความร่วมมือ ทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงการดำเนินงานตลอดโครงการ

ว่าที่ ร.ต. พศวัต สิริกุลพัฒนสาร ปลัดอำเภอเลิงนกทา กล่าวถึง โครงการซ่อมแซมและเสริมศักยภาพคันคูหนองบึงใหญ่เพื่อการอุปโภคบริโภค บ้านศรีสมบูรณ์ ต.ศรีแก้ว อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ที่เริ่มดำเนินการไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2566 แล้วว่า หนองน้ำบึงใหญ่เป็นหนองน้ำที่สำคัญของพื้นที่ คูคันเดิมเป็นคันดิน ทำให้น้ำไหลซึมออก ส่งผลให้ชาวบ้านเดือดร้อน เนื่องจากน้ำตรงนี้ใช้สำหรับผลิตน้ำประปาชุมชนใน 6 หมู่บ้าน ซึ่งในส่วนของทางอำเภอเลิงนกทา ได้เข้ามาร่วมบูรณาการกับทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่เข้าร่วมอบรมคณะทำงาน ให้เข้าถึงกระบวนการทำงาน และนำกระบวนการตรงนั้นมาขับเคลื่อนในพื้นที่ ตั้งแต่การประชาคม ลงพื้นที่ สำรวจออกแบบ จนถึงขั้นตอนการร่วมลงแรงซ่อมคันคูหนองบึงใหญ่ร่วมกัน หากแล้วเสร็จคาดว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์เต็มที่จากโครงการแน่นอน

นางจันทร์ศรี จันทร์แสง ผู้ใหญ่บ้าน ม.3 บ้านศรีสมบูรณ์ ต.ศรีแก้ว กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการซ่อมแซมและเสริมศักยภาพคันคูหนองบึงใหญ่เพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นโครงการที่มาจากความต้องการของชุมชนโดยแท้จริงและยินดีที่สละแรงงานช่วยกันซ่อมแซมคันคูหนองบึงใหญ่ เพราะเวลาหน้าแล้งน้ำอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอ ชาวบ้านต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อน้ำ หากซ่อมแซมคันคูเสร็จเรียบร้อย ทั้ง 6 หมู่บ้านในตำบลศรีแก้วจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำอุปโภคบริโภคได้เยอะเลยทีเดียว

โครงการเสริมศักยภาพระบบท่อส่งน้ำพีวีซีนาแปลงใหญ่ บ้านคำเตยเหนือ ม.4 ต.คำเตย อ.ไทยเจริญ จ.ยโสธร คืออีก 1 พื้นที่ที่เริ่มดำเนินโครงการไปแล้ว โดย นายบุญสนอง พลมาตย์ นายกเทศมนตรีตำบลคำเตย กล่าวว่า หลังจากที่ได้เรียนรู้กระบวนการการทำงานของสถาบันปิดทองหลังพระฯ จนเกิดความเข้าใจแล้ว ทำให้การทำงานในพื้นที่ง่ายขึ้น ชุมชนก็มีความเข้าใจในตัวโครงการ พร้อมลงแรงจิตอาสาทำงานร่วมกัน และพร้อมที่จะต่อยอดโครงการสู่การพัฒนาอาชีพในอนาคตด้วย

ด้าน นายไวคุณ ศรีจันทร์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.6 ต.คำเตย อ.ไทยเจริญ จ.ยโสธร กล่าวว่า โครงการเสริมศักยภาพระบบท่อส่งน้ำพีวีซีนาแปลงใหญ่ เรามีกลุ่มสมาชิกผู้ใช้น้ำร่วมกันบริหารจัดการและดูแล ในการเก็บค่าใช้บริการ เพื่อไว้บำรุงรักษา โดยน้ำที่ได้ส่วนใหญ่ ชาวบ้านจะใช้ในการอุปโภคบริโภค และใช้ทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ในช่วงฤดูแล้ง

นอกจาก ทั้ง 2 โครงการใน จ.ยโสธร แล้ว ยังมีโครงการซ่อมแซมอาคารรับน้ำหนองสิม บ้านสาวแห ม.5 ต.สาวแห อ.หนองฮี จ. ร้อยเอ็ด ที่ได้เริ่มดำเนินการแล้วเฃ่นกัน โดย นายสุบรรณ์ แวงโพษา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 บ้านหนองกุง ต.หัวช้าง อ.จตุรพักตรพิมาน กล่าวถึงโครงการว่า หลังจากทำนาแล้ว พื้นที่นี้ไม่สามารถปลูกพืชหลังนาได้เพราะอาคารรับน้ำผุพัง มีรอยรั่ว ไม่สามารถใช้น้ำทำการเกษตรกรได้ ซึ่งหากซ่อมแซมเรียบร้อย พื้นที่กว่า 40 ไร่ ก็สามารถทำการเกษตรได้อย่างเต็มที่ และยังสามารถให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากอาคารรับน้ำในการเดินสัญจรข้ามไปมาระหว่างแปลงเกษตรด้วย ซึ่งในฐานะตัวแทนชุมชนต้องขอขอบคุณ กรมทรัพยากรน้ำ ที่เล็งเห็นความสำคัญของชุมชนที่ได้ให้โครงการที่ดี ช่วยสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ดำเนินโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็ก ที่ดำเนินการมา ตั้งแต่ปี 2563 กว่า 646 โครงการ และขยายพื้นที่ดำเนินงานในพื้นที่ 9 จังหวัดลุ่มน้ำมูล ซึ่งประสบปัญหาแล้งซ้ำซากนั้น ประกอบไปด้วยจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้รับงบสนับสนุนจากกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีพื้นที่เป้าหมาย 48 อำเภอ 65 ตำบล จำนวน 108 หมู่บ้าน