กรมชลฯจัดประชุมสัญจรรับมือฝนปี 66 ย้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำประหยัด หลังเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงต้นฤดู

วันที่ 6 มิ.ย. 66 ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา จังหวัดสุพรรณบุรี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำสัญจร เตรียมรับมือฤดูฝนปี 66 ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 นายชัยรัตน์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 นายยศดนัย น้อยแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุพรรณบุรี นายธรรมนูญ บำรุงเพ็ชร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ ก่อนจะลงพื้นไปติดตามการเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนของอาคารชลประทานต่าง ๆ ในเขตพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีตามลำดับ

%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%A5
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก และการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 66 รวมทั้งพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน โดยได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล และทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ ร่วมบูรณากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางแผนเตรียมรับมือฤดูฝน ตาม 12 มาตรการที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนด ซึ่งได้มีการเน้นย้ำให้ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดการณ์ว่าในช่วงต้นฤดูฝนนี้จะเกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง และมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนบริหารจัดการน้ำและวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์และพื้นที่ รวมไปถึงวางแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำในอนาคต

%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%A5 1
กรมชลฯประชุมสัญจรรับมือฝนปี 66

ที่สำคัญให้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้เกษตรกรได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นย้ำให้เกษตรกรใช้น้ำฝนในการเพาะปลูกเป็นหลัก เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย รวมทั้งรณรงค์ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนและเพียงพอสำหรับทุกกิจกรรม ตลอดจนตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางอย่างสม่ำเสมอ และจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ให้พร้อมเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้ทันที

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (6 มิ.ย. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 40,265 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรองรับน้ำรวมกันได้อีกประมาณ 36,072 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,590 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯรวมกัน สามารถรองรับน้ำรวมกันได้อีกประมาณ 13,281 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด