กรมชลฯ ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำยม-น่าน จ.พิษณุโลก -วางแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน

วันที่ 8 มิ.ย. 65 ที่ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 65ในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่3 โดยมี นายวรพจน์ เพชรนรชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

285907088 397105562462523 501020634775391961 n
ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำยม-น่าน

พร้อมบรรยายสรุปผลดำเนินงานสำนักงานชลประทานที่ 3 ได้เตรียมความพร้อมและวางแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 65 จากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ มาวางแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และอยู่ในเกณฑ์เก็บกัก บริหารจัดการน้ำโดยใช้อาคารชลประทานและระบบชลประทานร่วมกับการจัดจราจรทางน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์

รวมทั้งวางแผนการเพาะปลูกฤดูฝน ปรับปฏิทินการเพาะปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ให้เร็วขึ้น เพื่อให้เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง ซึ่งปัจจุบัน(8 มิ.ย. 65)เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกเต็มพื้นที่แล้ว และจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จได้ ภายในกลางเดือนสิงหาคม 2565 ตลอดจนปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ทั้ง 13 มาตรการ ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ รองอธิบดีฯ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่บริหารจัดการน้ำตามหลักวิศวกรรมให้สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ โดยคำนึงถึง ปริมาณ ระยะเวลา ผลกระทบ ความมั่นคงของอาคารชลประทาน ผู้มีส่วนได้เสีย ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และความเชื่อมโยงของลุ่มน้ำเป็นหลัก เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่สำคัญต้องรายงานสถานการณ์น้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดให้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

ต่อจากนั้น รองอธิบดีฯและคณะ ลงพื้นที่รับฟังและแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง บริเวณคลองส่งน้ำสายซอยซี2 อ.พรมพิราม จ.พิษณุโลก ที่รับน้ำจากเขื่อนนเรศวรเพื่อใช้ในการเพาะปลูก แต่เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ปริมาณฝนตกในพื้นที่ลดลง ทำให้ปริมาณน้ำท่าท้ายเขื่อนสิริกิต์ลดลงตามไปด้วย ส่งผลปริมาณน้ำหน้าเขื่อนนเรศวรมีปริมาณลดต่ำลงด้วยเช่นกัน จึงไม่สามารถทดน้ำส่งเข้าคลองได้เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูก

เบื้องต้นกรมชลประทานโดยคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ พิจารณาแล้วจึงให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิต์ ทำให้ปัจจุบัน(8มิ.ย65) ระดับหน้าเขื่อนนเรศวรมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น สามารถส่งน้ำเข้าพื้นที่ให้เกษตรกรได้แล้ว นอกจากนี้จะพิจารณาปรับเพิ่มรอบเวรการส่งน้ำให้เร็วขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาให้เกษตรกรโดยเร็วที่สุด