กรมชลฯเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลาก ควบคู่ไปกับการเก็บกัก

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (8 ส.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 40,952 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 35,385 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,022 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 14,849 ล้าน ลบ.ม.

%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%9B 1
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน

ทั้งนี้ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 12 – 18 สิงหาคม 2566 ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำล้นตลิ่ง โดยสั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบสภาพอาคารชลประทาน และจัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หากมีกรณีฝนตกหนัก หรือลมกระโชกแรงจนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทาน และทรัพย์สินของทางราชการให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์  เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่เสี่ยงให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันที พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ

อย่างไรก็ตามหากฝนตกในพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่งผลดีต่อสถานการณ์น้ำในภาพรวม โดยกรมชลประทานจะกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำอย่างประณีต ให้มีน้ำต้นทุนสำรองไว้ใช้อย่างเพียงพอไปจนกว่าจะถึงฤดูแล้ง