ผลทางกฎหมายกรณีทายาทเกษตรกรไม่ขอรับการจัดที่ดินแทนที่จากรัฐ

เลขาธิการ ส.ป.ก. เตือนทายาทเกษตรกรที่ไม่ขอรับมรดกสิทธิการจัดที่ดินแทนที่จากรัฐ ต้องออกจากที่ดินหากฝ่าฝืนดำเนินการตามกฎหมาย

%E0%B8%AA
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กล่าวถึงกรณีที่ทายาทเกษตรกรไม่สามารถขอรับการจัดที่ดินแทนที่กรณีเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินเสียชีวิตหรือการขอรับมรดกสิทธิ ทันเวลากำหนด จะส่งผลอย่างไรและมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร ว่า  กรณีที่ทายาทเกษตรกรไม่มายื่นคำขอฯ ตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งอาจหมายว่าทายาทไม่ปฏิบัติตามระเบียบ คปก. ปี 2564 ไม่ประสงค์ขอรับการจัดที่ดิน หรือไม่ประสงค์เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินในส่วนนี้ส.ป.ก.จะดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง(ระเบียบ คปก. ปี 2564 ข้อ 14 บริเวณที่ไม่มีผู้ยื่นคำขอรับการคัดเลือกและจัดที่ดินเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นและรู้ตัวผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวให้ส.ป.ก.จังหวัด มีหนังสือเตือนให้ผู้นั้นออกจากที่ดินภายในระยะเวลาที่กำหนด หากฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลดังกล่าวเพื่อนำที่ดินมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต่อไป เพื่อจัดให้เป็นแปลงว่าง แล้วนำมาจัดสรรให้แก่ผู้ไร้ที่ดินทำกินต่อไป

เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่ทายาทเกษตรกรมายื่นความประสงค์ขอรับการจัดที่ดิน แต่ไม่สามารถได้รับการจัดที่ดินได้ทันเวลา อาจจะเกิดมาจากหลายปัจจัย เช่น  กรณีทายาทเกษตรกรขาดคุณสมบัติ ก็ต้องชี้แจงให้ทายาทรายนั้นทราบถึงหลักเกณฑ์ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม เพื่อกระจายสิทธิให้แก่ทายาทอื่นต่อไป , กรณีมีข้อพิพาทระหว่างทายาท ก็ต้องทำความเข้าใจ และหาข้อตกลงร่วมกันระหว่างทายาทให้ได้ข้อยุติและเป็นที่พอใจ แล้วดำเนินการจัดที่ดินต่อไป

เลขาธิการ ส.ป.ก. ยังกล่าวถึงกรณีเกษตรกรชราภาพ เจ็บป่วย หรือไม่มีทายาท และไม่ประสงค์หรือไม่สามารถทำประโยชน์ในที่ดินนั้นแล้ว ว่า  เกษตรกรผู้ได้รับที่ดินซึ่งได้รับการจัดให้เข้าทำประโยชน์ อาจยื่นคำขอสละสิทธิของตนต่อ ส.ป.ก.จังหวัด เพื่อให้เกษตรกรอื่น เป็นผู้ได้รับพิจารณาจัดที่ดินแทนที่ได้โดยการเช่า หากเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินนั้นอยู่ในหลักเกณฑ์ ได้แก่  1.เกษตรกรผู้ได้รับที่ดินชราภาพ หรือทุพพลภาพ หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง หรือประสงค์จะประกอบอาชีพอื่น 2. เกษตรกรผู้ได้รับที่ดินไม่ประสงค์จะทำประโยชน์ในที่ดินนั้นอีกต่อไปโดยไม่มีคู่สมรสและบุตรหรือมีแต่คู่สมรสและบุตร ไม่ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมในที่ดินนั้น 3. เป็นการขอสละสิทธิในที่ดินทั้งหมดที่ได้รับจัดที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

“ทั้งนี้เกษตรกรอื่นที่ได้รับการพิจารณาจัดที่ดินแทนที่ต้องจ่ายค่าชดเชย ต้องจัดการทรัพย์สินหรือหนี้สินที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เกษตรกรเดิมได้รับที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เช่น ไม้ยืนต้นทางการเกษตร โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือมูลค่าการปรับปรุงพัฒนาที่ดินเพื่อให้เหมาะสมต่อการเกษตรกรรมรวมถึงค่าภาระติดพันอยู่หรือมีหนี้สินค้างชำระกับ ส.ป.ก. หรือสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการกับ ส.ป.ก. หรือสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน” เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวทิ้งท้าย