กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำท่า ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำปลายฤดูฝน รับมือเอลนีโญ

%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%9B1 3
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (28 ก.ย.66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 50,140 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 26,257 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,751 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 12,120 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าจะมีร่องมรสุมพาดผ่านในช่วงวันที่ 26 – 29 ก.ย. 66 ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ กับมีฝนตกหนักมากในบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก   จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 66 และ 3 มาตราการเพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้อ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด บริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเจ้าหน้าที่ ประจำจุดเสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน