กมธ.ที่ดิน แจงหลักเกณฑ์แปลง ส.ป.ก.เป็น โฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นำร่องจังหวัดต้นแบบ 15 ม.ค.67

%E0%B8%81
กมธ.ที่ดิน แจงหลักเกณฑ์แปลง ส.ป.ก.เป็น โฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

วันที่ 19 ต.ค.2566 ที่รัฐสภา นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.ภูเก็ต พรรรคก้าวไกล นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ สส.ฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย และนายปกรณ์ จีนาคำ สส.แม่ฮ่องสอน พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงนโยบายรัฐบาล ในการขับเคลื่อนการปรับปรุงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

%E0%B8%81%E0%B8%98
กมธ.ที่ดิน แจงหลักเกณฑ์แปลง ส.ป.ก.เป็น โฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

นายฐิติกันต์ กล่าว่า กมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ข้อมูล โดยมีประเด็นสำคัญ คือ หลักการในการดำเนินนโยบาย ได้แก่

1.เร่งรัดปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง และมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ที่เกี่ยวข้องให้สอดรับกับการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวให้เสร็จภายในวันที่ 15 ธ.ค. 2566

2.จัดทำร่างระเบียบเพื่อกำหนดรูปแบบและนิยามโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พร้อมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการ เปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

3.กำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับการจัดที่ดินซึ่งเป็นเกษตรกรที่ถือครอง ส.ป.ก.4-01 และได้ทำประโยชน์ในที่ดินมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี

4.กำหนดวิธีการจัดที่ดินโดยจะเป็นการจัดที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมตามการจำแนกพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดิน

5.กำหนดหลักเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงผู้ทำประโยขน์ โดยให้สามารถเปลี่ยนมือได้ระหว่างเกษตรกรที่มีคุณสมบัติด้วยกันตามที่กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด

6.จำนวนเนื้อที่การถือครองยังคงเป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด

7.กำหนดให้เกษตรกรที่ได้รับโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต้องปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ตามสัดส่วนและชนิดของไม้มีค่าที่ ส.ป.ก. กำหนด

8.แนวทางการควบคุม กำกับ ดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยกำหนดให้เลขาธิการ ส.ป.ก. หรือผู้ซึ่งเลขาธิการ ส.ป.ก. มอบหมาย เป็นนายทะเบียนในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้แก่เกษตรกรโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งกำหนดค่าดำเนินการที่เกี่ยวข้องในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม

9.ส.ป.ก.จะกำหนดหรือคำนวณมูลค่าที่ดินและทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์ในการจัดการทรัพย์สินเพื่อเกษตรกรเพื่อสร้างมูลค่าให้กับที่ดินรัฐ โดยแก้ไขบันทึกข้อตกลงกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เพื่อเพิ่มวงเงินค้ำประกันเงินกู้และอำนาจในการจัดทำข้อตกลงกับสถาบันการเงินอื่นเพื่อเพิ่มโอกาสในการใช้เอกสารสิทธิหรือสร้างมูลค่าเพิ่ม

10.การออกโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรก จะแจกให้เป็นจังหวัดต้นแบบได้ภายในวันที่ 15 ม.ค.2567 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับเกษตรกร

11.ส.ป.ก.จะออกเอกสารสิทธิในรูปแบบโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในทุกจังหวัดภายใน 1 ปี และจะปรับปรุงเอกสารสิทธิให้กับเกษตรกรที่มีคุณสมบัติครบภายใน 5 ปี

นายฐิติกันต์ กล่าวว่า กมธ.มีข้อสังเกตว่า โฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คือ ที่ดินที่ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ ต่างกับโฉนดที่ดินของกรมที่ดิน แต่พยายามทำให้มีการเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ์เหมือนกับโฉนด มีการจำกัดว่าคนที่จะมาถือสิทธิ์ต้องครอบครอง ส.ป.ก.4-01 และได้ทำประโยชน์ในที่ดินมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี เพิ่มจากเดิมที่ให้เพียงสิทธิการเข้าทำประโยชน์ ไม่สามารถซื้อ ขายเปลี่ยนมือ โอนไปยังบุคคลอื่นได้ รวมถึงกมธ.ยังกังวลเรื่อง ข้อพิพาทจากการประกาศแนวเขตปฏิรูปที่ดินที่ไม่ชัดเจนและทับซ้อนกับแนวเขตที่ดินประเภทอื่น

ส่วนประเด็นที่ว่า หากเปลี่ยนพื้นที่ส.ป.ก. เป็นโฉนด จะมีการรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น นายปกรณ์ จีนาคำ โฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า เป้าหมายหลักคือการทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ในพื้นที่ส.ป.ก.ที่มีอยู่แล้วส่วนปัญหาการบุกรุกป่าทาง กมธ.จะพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง