ชลประทานติดตั้งเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือ “ภัยแล้ง” ชาว ท่าปลา อุตรดิตถ์

กรมชลประทาน จับมือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ติดตั้ง “เครื่องสูบน้ำ”ช่วยเหลือ 5 ตำบลในพื้นที่อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ หลังประสบปัญหา “ขาดแคลนน้ำ” พร้อมเร่งงานก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริหวังแก้ไขปัญหา“ขาดแคลนน้ำ”ในระยะยาว

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำในเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำไปช่วยเหลือการอุปโภคบริโภคให้กับแปลงอพยพจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ในเขตพื้นที่ 5 ตำบลของอำเภอท่าปลา ได้แก่ ตำบลท่าปลา ตำบลร่วมจิต ตำบลหาดล้า ตำบลน้ำหมัน และตำบลจริม

278739209 364575599050384 9082370947430983434 n

โครงการชลประทานอุตรดิตถ์ ได้ร่วมกับ กฟผ.(เขื่อนสิริกิติ์) นำ“เครื่องสูบน้ำ”ไปติดตั้ง จำนวน 2 เครื่อง เป็นเครื่องสูบน้ำขนาด 10 นิ้ว 1 เครื่อง อัตราการสูบ 600 ลบ.ม./ชม. และเครื่องสูบน้ำขนาด 6 นิ้ว อีก 1 เครื่อง อัตราการสูบ 400 ลบ.ม./ชม. สูบน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์(บริเวณเขื่อนดิน)ลงสู่คลองสิงห์ ก่อนส่งไปให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ในเขตจัดสรรช่วยเหลือผู้อพยพท้ายเขื่อนสิริกิติ์ในพื้นที่ 5 ตำบลดังกล่าว ได้ใช้ในการอุปโภค บริโภค คิดเป็นปริมาณน้ำประมาณ 9,700 ลบ.ม./วัน

นอกจากนี้ ยังได้สูบน้ำไปช่วยเหลือการผลิตน้ำประปาของการประปาสุขาภิบาล อำเภอท่าปลา อัตราวันละประมาณ 357 ลบ.ม./วันอีกด้วย

ทั้งนี้ การสูบน้ำได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2565 จนถึงปัจจุบัน รวมปริมาณน้ำที่สูบไปช่วยเหลือรวมทั้งสิ้นประมาณ 64,000 ลบ.ม. ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับราษฎรได้พอสมควร

สำหรับราษฎรในพื้นที่ 5 ตำบลดังกล่าว อยู่ในเขตการรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งปัจจุบันอ่างเก็บน้ำได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถเก็บกักน้ำได้แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับพื้นที่ 5 ตำบลของอำเภอท่าปลาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม โครงการชลประทานอุตรดิตถ์ได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้ผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า

ด้าน “เกษตรกร” ที่ใช้น้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าในเขตแม่น้ำน่าน ที่เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้ชะลอหรืองดการเพาะปลูกพืชต่อเนื่องจนกว่าจะมีปริมาณน้ำต้นทุนที่เหมาะสม พร้อมกับขอให้ติดตามประกาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย