ชลประทานเตรียมพร้อมรับมือน้ำ อุตุฯคาดฝนตกต่อเนื่อง

กรมชลประทานเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ หลังกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าฝนจะตกต่อเนื่องในระยะนี้

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (16 มิ.ย.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 42,230 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 33,855 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,086 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ41 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 14,785 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์ ตามประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติฉบับที่ 17/2565 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน 

5E2DE670 691F 4E22 821E 1CABBD6E4514

และการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 15 -16 มิ.ย.65 พบว่าปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่องอาจส่งผลให้ เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน จึงขอให้ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 15 – 17 มิถุนายน 2565 ในพื้นที่

📍ภาคเหนือ บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

📍ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดนครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ชัยภูมิ บึงกาฬ ขอนแก่นอุดรธานี เลย หนองคาย กาฬสินธุ์ สกลนคร และนครพนม

📍ภาคใต้ บริเวณจังหวัดระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

93CFDB05 DE69 43B3 B147 B350559A4501

กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน โดยโครงการชลประทานในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบติดตามเฝ้าระวังสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง 

รวมถึงพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำพร้อมทั้งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันกั้นน้ำ และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เร่งระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม รับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

รวมทั้งเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที รวมถึงประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง