กรมประมงชวนลอยกระทง สืบสานประเพณีไทยแบบสร้างสรรค์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “มาด้วยกัน ลอยด้วยกัน รักษ์แหล่งน้ำ รักษ์สัตว์น้ำ”

กรมประมงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมลอยกระทง สืบสานประเพณีไทยแบบสร้างสรรค์อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหาการเพิ่มปริมาณขยะในแหล่งน้ำ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์น้ำ ด้วยการ…มาด้วยกันลอยกระทงใบเดียวกัน และเลือกกระทงที่ใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลาย หรือเป็นอาหารสัตว์น้ำได้ 

202311240924451 pic

         

ประเพณีลอยกระทง…ถือเป็นเป็นประเพณีดั้งเดิมของไทยมาอย่างช้านาน ตามวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่มีความผูกพันกับแม่น้ำลำคลองตลอดมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสำนึกถึงคุณค่าแหล่งน้ำ และเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ตามความเชื่อที่ว่ามีพระแม่คงคาคอยปกป้องรักษาดูแลอยู่ ซึ่งประเพณีลอยกระทงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี ได้รับความนิยมทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก ทำให้ปริมาณกระทงแต่ละปีมีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำและสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำเน่าเสียจากปริมาณขยะ ระบบการระบายน้ำอุดตัน และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์น้ำได้

         

ดร.ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า จากการที่ประเพณีลอยกระทง เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศไทย และเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยไว้มิให้สูญหาย แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า กระทงที่ประชาชนนำมาลอยในแต่ละปีนั้น ส่งผลกระทบต่อปัญหาแหล่งน้ำและสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่โดยในปัจจุบันประชาชนได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อปัญหาเหล่านี้มากขึ้น

“ดังนั้น ในวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงในปีนี้ กรมประมงจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมใจสืบสานประเพณีลอยกระทง และรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยการลอยกระทงใบเดียวกันเมื่อมาด้วยกันเพื่อลดปริมาณขยะ และเลือกใช้กระทงที่ประดิษฐ์จากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น กระทงน้ำแข็ง กระทงใบตอง กระทงมันสำปะหลัง กระทงกาบมะพร้าว หากเลือกใช้กระทงที่ทำจากขนมปัง ข้าวโพดย้อมสี กรวยไอศกรีม ควรลอยในแหล่งน้ำที่มีปลากินขนมปัง ในกรณีที่ต้องการใช้สีตกแต่งกระทงควรใช้สีผสมอาหารไม่ใช้สีที่เป็นอันตรายต่อแหล่งน้ำและสัตว์น้ำ หลีกเลี่ยงกระทงที่มีเข็มหมุด พลาสติก โฟม กากเพชร เพราะนอกจากย่อยสลายยากและเป็นขยะในแหล่งน้ำแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำอีกด้วย รวมถึงการเลือกกระทงที่ไม่ใช้วัสดุหลากหลายเกินไป เพื่อลดภาระให้แก่เจ้าหน้าที่ในการคัดแยกก่อนนำไปกำจัด และควรลอยกระทงในแหล่งน้ำที่เป็นสถานที่ปิด เช่น สระ บึง บ่อ หนองน้ำ เพื่อลดการกระจายตัวของขยะไม่ให้ ลอยลงสู่ลำคลอง แม่น้ำ หรือทะเล อีกทั้งยังช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถเก็บขยะขึ้นมาได้ง่ายขึ้น “

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ขอความร่วมมือประชาชนเลือกใช้วัสดุลอยกระทงที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และใช้กระทงร่วมกันเพียงใบเดียว หรือหากไม่ประสงค์ที่จะลอยกระทงอาจเปลี่ยนวิธีการมาเป็นการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำให้แก่แหล่งน้ำในวันลอยกระทง นอกจากนี้ การลอยกระทงในรูปแบบออนไลน์ยังถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยลดปัญหาปริมาณขยะ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีไทยแบบสร้างสรรค์ให้ยั่งยืนตลอดไป