“เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ PGS ใต้ร่มบุญ”จากจุดความคิดทำเกษตรใช้ภูมิปัญญาอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วย

“ช่วยตานูนเท่ากับช่วยสมาชิก เท่ากับช่วยเครือข่าย” ประโยคคำพูดสั้นๆ ที่ มนูญ แสงจันทร์สิริ หรือ ตานูน ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม่อนผลแปรรูปกลุ่มใต้ร่มบุญ จ.สงขลา เอ่ยขึ้น

ชีวิตที่ผ่านงานรับจ้างมาหลากหลายทั้งกรีดยาง ทหารพราน เซลล์ขายของรองผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ จนมาเป็นนายตัวเองกับอาชีพ “เกษตรกร “ด้วยการเลี้ยงแพะ และได้มารู้จักต้นหม่อนหรือมัลเบอร์รี่ที่มีโปรตีนสูง ใช้เป็นอาหารเลี้ยงแพะได้

pic tanoon 1 1024x683 1
ตานูน

“ปลูกหม่อนใบเพื่อเอามาเลี้ยงแพะ แล้วมารู้ว่าหม่อนผลมีโปรตีนสูงเหมือนกัน ก็เรียนรู้วิธีปลูก ทำไปทำมาก็เริ่มคิดแล้วว่าจะอยู่เฝ้าแพะแบบนี้ไปเรื่อย ๆ มันไม่ใช่ เลยลองเอาผลหม่อนมาแปรรูปเป็นน้ำหม่อนไปวางขาย ปรากฏว่าขายดี ก็จุดประกายอาชีพให้เรา”

จากแปรรูปหม่อนในระดับครัวเรือน ยกระดับเป็นสินค้าแปรรูปมาตรฐาน อย. ภายใต้การดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม่อนผลแปรรูปกลุ่มใต้ร่มบุญเมื่อปี 2557 ที่มีสมาชิกทั้งในชุมชนและต่างอำเภอ โดยแปลงหม่อนของกลุ่มฯ ได้รับมาตรฐาน GAP และเป็นแปลงแรกของจังหวัดที่ใช้ระบบการรับรอง “เกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม “(PGS) ผลิตภัณฑ์แปรรูปของกลุ่มฯ นอกจากมีไวน์หม่อน น้ำหม่อน ยังมีน้ำมังคุด น้ำสับปะรด หม่อนกวน และมังคุดกวน

pic tanoon 5
เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ PGS ใต้ร่มบุญ

นอกจากปลูกหม่อนแล้ว ยังปลูกผักในแปลงหม่อนเพื่อต้องการใช้พื้นที่ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด เป็นรายได้เสริม และที่สำคัญคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองและสมาชิกกลุ่ม ตามแนวทางศาสตร์พระราชา

“คนปลูกหม่อนส่วนมากมักจะคิดว่าปลูกหม่อนแล้วทำอย่างอื่นด้วยไม่ได้ แต่คนไม่ได้กินหม่อนอย่างเดียว ถ้าวันหนึ่งลูกค้าหม่อนไม่มี เราจะทำอะไร”

จุดเริ่มจากการแปรรูปหม่อน ทำให้ ตานูน ต้องทำงานร่วมกับเกษตรกรทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่ เพื่อหาวัตถุดิบมาแปรรูป หาความรู้จากมหาวิทยาลัยเพื่อหนุนเสริมการผลิตให้ได้คุณภาพ เช่นเดียวกับการพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน จำเป็นต้องได้รับรองจากหน่วยงานรัฐ และสิ่งสำคัญคือการหาแหล่งงบประมาณสนับสนุน จึงทำให้ “ตานูน” สานการทำงานกับกลุ่มคนต่าง ๆ จนเกิดเป็นเครือข่ายการทำงานขึ้นโดยปริยาย

ตานูน” มีโอกาสร่วมงาน สวทช.-วิทย์สัญจร “วิจัยเข้มแข็ง เสริมแกร่งภูมิภาค” ที่หาดใหญ่ ซึ่งได้จุดความคิด “การทำเกษตรใช้ภูมิปัญญาอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วย” และกลายเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานร่วมกับ สวทช. ที่ได้นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการผลิตพืชผักไปถ่ายทอดให้ “ตานูน” และสมาชิกกลุ่มฯ เกิดการขยายเป็น”เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ PGS ใต้ร่มบุญ” โดยมี ตานูน เป็นแกนนำหลัก มีสมาชิก 50 คน ใน 8 อำเภอของสงขลา (บางกล่ำ สะเดา หาดใหญ่ คลองหอยโข่ง จะนะ เทพา สะบ้าย้อย นาทวี) มีเป้าหมาย ขยายคุณภาพและปริมาณผลผลิตผักสดและมะเขือเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ยกระดับและพัฒนาการทำ“เกษตรอินทรีย์” ตลอดจนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี องค์ความรู้และการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

การปลูกผักสดให้ได้คุณภาพและขายให้ได้ราคาเป็นเรื่องใหม่สำหรับสมาชิกเครือข่ายฯ ซึ่งส่วนใหญ่ทำอาชีพสวนยางหรือปลูกข้าวเป็นหลัก แต่พวกเขาต่างพร้อมใจเรียนรู้และลงมือทำเพื่อเป็นรายได้เสริมหรืออาจกลายเป็นรายได้หลักได้

คนเราเมื่อเจอวิกฤต ก็ต้องหาตัวช่วย ลงทุนน้อยที่สุดคือปลูกผัก ปลูกแล้วได้กิน สุขภาพดี ไม่ต้องซื้อผัก เหลือก็เอามาขาย” ตานูน เล่าถึงการสนับสนุนให้สมาชิกหันมาปลูกผักในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้หลายคนขาดรายได้ โดยประสานความร่วมมือกับ สวทช. จัดอบรมผ่านระบบออนไลน์ให้ความรู้ “การผลิตพืชผักในโรงเรือนปลูกพืชต้นทุนต่ำ” ให้สมาชิกเครือข่ายฯ เกิดการนำไปประยุกต์ใช้ ดังเช่น สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายนาอินทรีย์ (จะนะแบ่งสุข) อ.จะนะ และ ตานูน ยังรับซื้อผลผลิตเพื่อส่งตลาดที่ตนเองผลิตส่งอยู่ 3 แห่ง คือ สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลสงขลานครินท์ และมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา

จะเรียกว่าเป็นพ่อค้าคนกลางก็ได้ มีกำไรแต่จะคิดแค่ไหนที่เป็นธรรมกับคนปลูก แจกแจงราคาให้หมด ให้ราคาเท่ากันทุกราย บางครั้งก็เข้าเนื้อ ลูกค้ายกเลิกออเดอร์ เราก็ต้องรับผิดชอบผักที่รับซื้อมาแล้ว” แม้จะขาดทุน แต่เขามองว่าสมาชิกขายผักได้ นั่นคือ กำไร และมากกว่านั้น คือ คุณภาพผักที่สะท้อนถึงความรู้และความใส่ใจของสมาชิก ตานูน ตรวจสอบคุณภาพผักจากแปลงปลูก โดยการชิมและสุ่มตัวอย่างส่งตรวจสารเคมีตกค้าง

“ถ้าทำไม่ดี รักษาคุณภาพผักไม่ได้ จะดุกันตรง ๆ อย่าโกรธกัน สิ่งที่คุณทำ ทำให้คนอื่นด่าผม แล้วก็จะสอนวิธีทำ แก้ปัญหาให้ วิธีจัดการโรคจัดการแปลง ให้เขาลองทำใหม่ งานเกษตรเป็นงานเรียนรู้ไม่มีวันจบ” ด้วยบุคลิกที่ใฝ่รู้ พูดจริงและทำจริงของ “ตานูน” สร้างความเชื่อมั่นให้หน่วยงานพร้อมร่วมงาน องค์ความรู้หรือเทคโนโลยีที่ได้รับผ่านโครงการต่างๆ เขาจะแบ่งปันให้สมาชิกเครือข่ายได้นำไปใช้ “มือบนชนะมือล่าง มือล่างได้รับ มีความสุขแต่ชั่วคราว ส่วนมือบนได้ตลอด ได้จากการให้โดยไม่หวังได้คืน” คือคำอธิบายคุณค่าจากการให้จาก ตานูน ขณะที่ “ความจริงใจ” คือหัวใจสำคัญของการทำงานกับเครือข่ายหน่วยงานรัฐและเอกชน

“เราพูดความจริงและจริงใจ รับปากแล้วต้องทำให้ได้ คนเราซื้อใจไม่ได้ด้วยตังค์ ซื้อได้ด้วยพฤติกรรม”

โรงคัดแยกผักและผลไม้กลุ่มใต้ร่มบุญ เทคโนโลยีการเลี้ยงปลาระบบ Bio Floc ระบบโซล่าร์เซลล์ หรือตู้ควบคุมระบบการให้น้ำในแปลงผัก ที่เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ PGS ใต้ร่มบุญได้รับ และตลาดที่เข้ามาติดต่อไม่ว่าจะเป็นท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือแม็คโคร

เป็นตัวอย่างความสำเร็จจากการทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนที่สนับสนุนทั้งเครื่องมือและถ่ายทอดความรู้ให้สมาชิกได้เรียนรู้และใช้ประโยชน์ร่วมกัน สอดคล้องกับเป้าหมายการเกิดขึ้นของเครือข่ายฯ

“ขาดทุนจากการลองทำ หรือทำในบางเรื่องที่คนมองว่าไม่ใช่หน้าที่ แต่ถ้าเราไม่ลงมือทำ สมาชิกเราก็ไม่ได้ ส่วนกำไร เราได้ทั้งความรู้ ได้เพื่อนและได้บุญ”

ที่มา ข้อมูลจากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร ( สท. )