นวัตกรรมผสานภูมิปัญญา ต่อยอดผลิต “ห้อม”

บ้านทุ่งโฮ้ง ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ เป็นแหล่งผลิต “ผ้าหม้อห้อม” ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

อีกทั้งยังเป็นผ้าพื้นเมืองของชาวแพร่ที่มีอัตลักษณ์ ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นและเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัดจากวิถีการ “ย้อมห้อมแบบโบราณ” ที่ใช้กิ่งและใบห้อมหมักในหม้อ ใช้เวลาย้อมหลายวันกว่าสีจะติดทนและสวยงาม เมื่อความนิยม”ผ้าหม้อห้อม”มากขึ้น การผลิตให้ทันตามความต้องการตลาดจึงปรับเปลี่ยนมาใช้สีเคมี ต้นทุนถูกลงและใช้เวลาผลิตรวดเร็วกว่า

เราคนรุ่นเก่าก็หันมาใช้เคมีเหมือนกัน แต่พอทำไปสักระยะก็มาคิดว่าวิธีการ “ย้อมห้อมแบบธรรมชาติ “ตามภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษสั่งสมมา แทบจะไม่หลงเหลือให้เห็น เราต้องกลับมาเป็นผู้อนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งเหล่านี้ให้คงอยู่ ให้ลูกหลานได้เห็น ได้ภูมิใจ วิภา จักรบุตร รองประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้าย้อมหม้อห้อมโบราณ บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นการกลับมาอนุรักษ์การผลิตผ้าหม้อห้อมโบราณ และเป็นที่มาของการรวมกลุ่มสมาชิกเมื่อปี พ.ศ. 2561

ในช่วงแรกกลุ่มฯ ซื้อ “ต้นห้อมสด” เพื่อนำมาทำเปอะสำหรับย้อมจากบ้านนาคูหา ต.สวนเขื่อน อ.เมือง จ.แพร่ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกห้อมคุณภาพที่ให้เนื้อห้อมและปริมาณสารอินดิโก(indigo)สูง แต่จากการย้อมด้วยกรรมวิธีโบราณของกลุ่มฯ กลับพบปัญหาสีติดไม่สม่ำเสมอ ผ้าแต่ละล็อตได้เฉดสีแตกต่างกัน ขณะเดียวกันกลุ่ม ฯ ต้องการปลูก “ต้นห้อม” ในชุมชนเองเพื่อลดต้นทุนการผลิต

ปัญหาหลักของกลุ่มฯ คือ ต้องการควบคุมคุณภาพของสีที่ได้จากการย้อม การก่อ “หม้อห้อม” เกิดจากการหมัก (fermentation) โดยมีจุลินทรีย์มาเป็นปัจจัยหลัก หากสามารถหาวิธีการคัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์ที่เหมาะสมได้ จะสามารถควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ ” รศ.ดร.ณัฐพร จันทร์ฉาย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพทางอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ บอกถึงปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาด้วย “ชีวนวัตกรรม”

pic horm 3 1024x683 1
ต้นห้อม

ซึ่งอาจารย์ได้คัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์สายพันธุ์ Bacillus cereus MJUP09 จากน้ำก่อ”หม้อห้อม”ย้อมธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ซึ่งมีประสิทธิภาพดึงสีอินดิโก (indigo) จากการก่อหม้อห้อม พร้อมควบคุมเฉดสีของ “ห้อม “ที่ได้ตามความต้องการในการย้อมแต่ละครั้ง และคัดแยกจุลินทรีย์กลุ่มเอนโดไฟติกแบคทีเรียสายพันธุ์ Bacillus nealsoneii MJUP09 จากรากของ“ต้นห้อม” มาพัฒนาเป็นปุ๋ยชีวนวัตกรรมอัดแท่งเพื่อเพิ่มผลผลิตของ ต้นห้อม ช่วยให้ ต้นห้อม แข็งแรงต้านทานต่อโรครากเน่า โคนเน่า หลังจากได้นำ “ห้อม “มาขยายพื้นที่ปลูกในพื้นที่ราบและ “ต้นห้อม” ให้คุณภาพสีดีขึ้นอีกด้วย

สมาชิกกลุ่มฯ ได้รับถ่ายทอดองค์ความรู้จากอาจารย์ณัฐพร และ สวทช. เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ทั้งการคัดเลือก “สายพันธุ์ห้อม” ชีวนวัตกรรมการปลูกและการดูแล “ต้นห้อม” ให้ได้คุณภาพ การผลิต ห้อมผง ทดแทนการใช้ ห้อม เปอะ การเตรียมผ้าด้วยชีวนวัตกรรมของการใช้เอนไซม์เอนอีซ (ENZease) ทำความสะอาดผ้าก่อนย้อม การก่อหม้อห้อมตามมาตรฐาน GI ของจังหวัดแพร่ พร้อมใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์บริสุทธิ์ ในการก่อหม้อร่วมกับห้อมผง การก่อหม้อห้อมย้อมผ้าแบบโบราณ การเพิ่มลวดลายบนผ้า การใช้ประโยชน์จากของเสียจากกระบวนการย้อมห้อม ตลอดจนการสร้างตลาดออนไลน์-ออฟไลน์ สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ (new normal) และการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศด้วย BCG โมเดล

เราได้ความรู้มากมายตั้งแต่ปลูกห้อมไปถึงการทำตลาด ผลักดันให้เราเป็นศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์วิธีการย้อมหม้อห้อมโบราณจุดประกายให้ชาวบ้านกลับมาใช้สีธรรมชาติ องค์ความรู้เราได้รับ เราถ่ายทอดต่อให้ทุกคนที่สนใจผลิตภัณฑ์ของกลุ่มฯ ได้รับการพัฒนาเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งส่งเสริมต่อยอดและพัฒนาชุมชนของเราได้ดีมาก ๆ” วิภา เล่าด้วยความภาคภูมิใจ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของกลุ่มฯ ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง “ชุด Kit สีน้ำระบายสี” และรางวัลชมเชย (สบู่น้ำมันจากห้อมและแชมพูสระผมจากห้อม) จากเวทีประกวดสินค้ายกระดับเศรษฐกิจต่อการดำเนินชีวิตในรูปแบบวิถีใหม่ “ห้อม..ที่เป็นมากกว่า หม้อห้อม ”

สำหรับการปลูกต้นห้อมในพื้นที่ สมาชิกกลุ่มฯ และชุมชนใกล้เคียงที่ทอผ้าและย้อมสีธรรมชาติได้ร่วมกันเรียนรู้วิธีปลูก “ต้นห้อม” เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ ลดต้นทุนการผลิต และสร้างรายได้เสริมจากการจำหน่ายต้นกล้า โดยปลูกห้อมใบใหญ่สายพันธุ์ Strobilanthes cusia ซึ่งเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีปริมาณสารอินดิโกสูงและใช้ปุ๋ยชีวภาพอัดแท่งช่วยให้ “ต้นห้อม” ต้านทานโรครากเน่า โคนเน่า ส่งเสริมการเจริญเติบโตของต้นห้อมและเพิ่มคุณภาพสี ซึ่งกลุ่มฯ ยังรับซื้อวัตถุดิบจากผู้ปลูกราคากิโลกรัมละ 20-25 บาท

“การปลูกห้อมต้องดูแลให้น้ำให้ปุ๋ยอย่างเหมาะสมจึงจะเจริญเติบโตได้สมบูรณ์ ต้นห้อม มีลักษณะเป็นทรงพุ่ม ใช้เวลาปลูกประมาณ 8-11 เดือน จึงจะเก็บเกี่ยวกิ่งและใบมาหมักเพื่อสกัดสี การปลูกห้อมให้ได้คุณภาพต้องกำหนดขนาดแปลง ระยะห่างการปลูกตามมาตรฐาน เพื่อให้แตกพุ่มดี ได้ผลผลิตสูง อายุต้นกล้าที่นำมาปลูกประมาณ 15-20 วัน จะแตกกอง่าย ยิ่งหักกิ่งก้านก็จะยิ่งแตกกอ เมื่อต้นกล้าตั้งต้น (1 สัปดาห์ หลังปลูกลงแปลง) แนะนำให้เกษตรกรใช้จุลินทรีย์อัดแท่งเป็นปุ๋ยชีวภาพ การปลูกห้อมจะใส่ปุ๋ยเพียงครั้งเดียวสามารถดูแลได้ประมาณ 5 ปี เมื่อต้นโทรมจึงเปลี่ยนต้นพันธุ์ใหม่” อาจารย์ณัฐพร เล่าถึงวิธีการปลูกและดูแล “ห้อม” ให้ได้คุณภาพ

ที่มา สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร