ยกระดับสินค้าภูมิปัญญา ‘กระดาษสาทนน้ำ’

ใครที่คิดว่า “กระดาษสา” มีไว้เพียงทำสมุดโน้ตหรือกระดาษห่อของขวัญ คงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่เสียแล้ว เมื่อบริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด โรงงานกระดาษบ้านต้นเปา จังหวัดเชียงใหม่ หันมาใช้นวัตกรรมผสานภูมิปัญญาพัฒนา “กระดาษสาทนน้ำ” ยกระดับเพิ่มมูลค่าการใช้งานเทียบเท่าถุงพลาสติก

ภายใต้การสนับสนุนของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ โปรแกรม ITAP (Innovation and technology assistance program) หน่วยงานในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

BCG Delight Sa Paper 7
เพิ่มมูลค่า “กระดาษสาล้านนา”

เพิ่มมูลค่า “กระดาษสาล้านนา” ภูมิปัญญาบ้านต้นเปา

นายธนากร สุภาษา กรรมการผู้จัดการบริษัทซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกระดาษจากใยธรรมชาติแบรนด์ “ปาป้า เปเปอร์ คราฟท์ (Papa Paper Craft) ” เล่าว่า ด้วยพื้นเพเป็นคนเชียงใหม่และเป็นทายาทรุ่นที่สอง ที่สืบทอดธุรกิจ “กระดาษสา” จากครอบครัวในหมู่บ้านต้นเปา จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งผลิต “กระดาษสา” ครบวงจรแห่งเดียวในประเทศไทย ดังนั้นเมื่อใครที่อยากทำกระดาษสา หรือเส้นใยเกี่ยวกับกระดาษมักจะนึกถึงชุมชนหมู่บ้านต้นเปาเป็นอันดับแรกเสมอ

ทว่าแม้ปัจจุบันวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก จะเป็นตัวแปรผลักดันให้คนทั่วโลกลดการใช้พลาสติก และหันกลับมาใช้สินค้าจากธรรมชาติมากขึ้น แต่ด้วยจุดอ่อนของกระดาษสาที่ขาดง่ายเมื่อโดนน้ำ ยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคมากนัก แนวคิดการพัฒนา “กระดาษสาทนน้ำ “ จึงอาจเป็นหนทางปรับจุดอ่อนเป็นข้อได้เปรียบ เพื่อให้แข่งขันกับตลาดทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้น

“เราอยากเพิ่มมูลค่ากระดาษสาให้มีสมบัติกันน้ำได้ แต่ด้วยเราไม่มีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงไปปรึกษาทาง สวทช. ภาคเหนือ และได้รับคำแนะนำให้เข้าร่วมโปรแกรม ITAP ซึ่งเขามีบริการให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี ตลอดจนจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งก็ได้แนะนำให้พบกับ ดร.มาโนช นาคสาทา คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ที่จะเข้าให้คำปรึกษาการพัฒนากระดาษสาทนน้ำ”

กำจัดจุดอ่อน “กระดาษสา” เพิ่มคุณสมบัติทนน้ำ

ที่ผ่านมาการผลิตกระดาษสาของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงใช้กระบวนการแบบดั้งเดิมซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของกระดาษสา แต่หากสามารถพัฒนาให้ “กระดาษสา” มีสมบัติพิเศษ เช่น การทนน้ำ จะทำให้ประยุกต์การใช้กระดาษสาได้กว้างขึ้น

ดร.มาโนช นาคสาทา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เทคโนโลยีกระดาษสากันน้ำ เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาด้วยทุนวิจัยของ สวทช. เครือข่ายภาคเหนือ เมื่อผู้ประกอบการในพื้นที่ทำธุรกิจกระดาษสา มีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นกระดาษสากันน้ำ จึงขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีและเข้าโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี กับทางโปรแกรม ITAP สวทช.

“โดยธรรมชาติเส้นใยกระดาษชอบน้ำมาก ประกอบกับช่องว่างขนาดเล็กในกระดาษมีจำนวนมาก ทำให้กระดาษอุ้มน้ำเหมือนกับฟองน้ำ ดังนั้นเมื่อมีการหยดน้ำหยดลงบนกระดาษ น้ำจึงแพร่กระจายไปบนผิวกระดาษเป็นวงกว้างพร้อมทั้งซึมผ่านเข้าไปในเนื้อกระดาษได้อย่างรวดเร็ว การทำให้กระดาษสามารถกันน้ำได้ เช่น การลดช่องว่างในตัวกระดาษ โดยการเติมแป้งพร้อมกับมีกระบวนการอัดให้เส้นใยของกระดาษอยู่ชิดกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้กระดาษหนาและแข็ง

อีกกระบวนการหนึ่งคือการเติมสารที่ไม่ชอบน้ำลงไป สารพวกนี้จะทำให้มุมสัมผัสของหยดน้ำโตมากทำให้น้ำไม่เปียกเส้นใยและไม่สามารถซึมผ่านกระดาษได้ ซึ่งในการวิจัยพัฒนา เราใช้วิธีเติมสารไม่ชอบน้ำซึ่งเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลการทดลองพบว่าช่วยให้กระดาษสากันน้ำได้ดี หยดน้ำสามารถกลิ้งไปมาบนระดาษได้เหมือนที่กลิ้งบนใบบัว ที่สำคัญกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน ผู้ประกอบการยังสามารถทำได้ด้วยวิธีการเดิม ไม่ต้องใช้เครื่องมือราคาแพง”

ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ BCG แต้มต่อทำธุรกิจ

ปัจจุบัน บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด รับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิต “กระดาษสาทนน้ำ” โดยการนำสารไม่ชอบน้ำ ซึ่งเป็นสารสกัดธรรมชาติ เข้ามาใช้ในกระบวนการปั่นเยื่อก่อนนำขึ้นไปขึ้นรูปเป็นกระดาษสา และมีการนำมาใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์

นายธนากร เล่าว่า กระดาษสาทนน้ำที่ผลิตได้มีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จาน กล่องเครื่องสำอาง และถุงกระดาษ เน้นการออกแบบรูปทรงและการตัดเย็บให้ดูทันสมัย ความพิเศษของ “ผลิตภัณฑ์กระดาษสาทนน้ำ” คือ เมื่อเทน้ำลงไป น้ำจะขังอยู่ในผลิตภัณฑ์จนกว่าจะเทน้ำออก การดูดซับน้ำจะมีเฉพาะผิวกระดาษชั้นนอก และกระดาษจะค่อย ๆ คายน้ำออกมาจนแห้งในเวลาไม่นาน เช่น ถุงกระดาษสาทนน้ำ เราไม่ได้ทดสอบแค่เทน้ำใส่ถุงเพียง 5-10 วินาทีเท่านั้น แต่เทน้ำทิ้งไว้ในถุงเป็นวัน ซึ่งก็ไม่พบการรั่วซึม

ขณะที่ถุงกระดาษสาทั่วไป เมื่อเทน้ำลงไปกระดาษจะดูดซึมน้ำ เปื่อยและฉีกขาดทันที ที่สำคัญ “ถุงกระดาษสาทนน้ำ” ยังนำมาใช้ซ้ำได้มากกว่า 1 ปี เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วสามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ

ผลิตภัณฑ์กระดาษสาทนน้ำเริ่มวางจำหน่ายออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก papapaperfactory ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างดี ทั้งลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดยุโรปที่เริ่มมีการสั่งซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยข้อได้เปรียบการเป็นสินค้ารักษ์โลก และยังตอบโจทย์การพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG

“ผมมีความเชื่อว่าตลาดจะตอบรับเรา เพราะกระดาษสาทนน้ำเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์แนวคิดทั้งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และโมเดลเศรษฐกิจของ BCG ที่ภาครัฐกำลังให้การสนับสนุน เพราะต้องการลดการใช้พลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use) โดยกระบวนการผลิตกระดาษสาทนน้ำของเรา ไม่เพียงใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ตอบโจทย์เศรษฐกิจชีวภาพแล้ว ในกระบวนการผลิตกระดาษสายังเน้นใช้สีธรรมชาติ ทำให้นำน้ำกลับมาใช้หมุนเวียนในกระบวนการผลิตได้เกือบ 100% แทบไม่มีการปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อม เป็น zero waste ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ถือเป็นแต้มต่อในการทำธุรกิจที่เท่าทันตอบโจทย์กระแสโลก และด้วยกระบวนการทำธุรกิจแบบนี้ เชื่อว่าจะทำให้ชุมชนและบริษัทอยู่ได้ รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน”

นวัตกรรมกระดาษสาทนน้ำ” นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมรักษ์โลกที่เกิดจากการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับภูมิปัญญาแห่งบ้านต้นเปา จังหวัดเชียงใหม่ ให้ยังคงสืบสานจากรุ่นสู่รุ่น และยังสร้างโอกาสทางธุรกิจ สร้างรายได้ให้ชุมชนและผู้ประกอบการ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล