“ข้าว” เป็นสินค้าเกษตรส่งออกหลักของประเทศที่ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด (คิดเป็น 46.1% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดของประเทศ และครอบคลุมครัวเรือนถึง 4.9 ล้านครัวเรือน (คิดเป็น 60.5% ของจำนวนครัวเรือนภาคเกษตรทั้งหมด ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากรัฐบาลมาโดยตลอด ในปี พ.ศ. 2565-2567 ผลผลิตข้าวของไทยมีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนจากแนวโน้มสภาพอากาศ ปริมาณฝน และน้ำในเขื่อนที่คาดว่าจะเอื้ออำนวย ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่/เพิ่มรอบการเพาะปลูก โดยความต้องการบริโภคข้าวในประเทศมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นตามการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และอุตสาหกรรมการผลิตอาหารต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกคาดว่าจะกลับมาขยายตัวตามกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว
นายสันติภาพ ทองอุ่น หัวหน้ากลุ่มถ่ายทอดวิทยาการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรผู้ผลิตข้าวให้มีความรู้ ความสามารถในการผลิตข้าวมาตรฐานสากล เช่น Organic Thailand , มาตรฐาน Good Agricultural Practice (GAP) , มาตรฐาน Q , มาตรฐาน HACCP , มาตรฐาน Good Manufacturing Practice (GMP) และมาตรฐานข้าวพันธุ์แท้ เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรผู้ผลิตข้าวส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว และจำหน่ายให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี
ด้านนายสุธรรม ทองแช่ม เกษตรกรปราดเปรื่องผู้ผลิตข้าว จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ตนได้ผลิตข้าวมาอย่างต่อเนื่องทำต่อจากพ่อ แม่ ทำให้ตนเป็นชาวนาที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการการผลิตข้าวของชาวนา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีทั้งการใช้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้คุณภาพ การใช้สารเคมีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตข้าวที่ได้มีปริมาณลดลงเรื่อยๆ ไม่มีประสิทธิภาพ มีวัชพืชและข้าวพันธุ์ปนจำนวนมาก เมื่อนำไปจำหน่ายที่โรงสีข้าวก็จะได้ราคาที่ต่ำ และเมื่อได้พบกับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานีได้มีการขับเคลื่อนโครงการร่วมกัน มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตข้าวใหม่ ทั้งการใช้เมล็ดพันธุ์ดีจากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี พร้อมทั้งมีการใช้หลักวิชาการ การใช้เทคโนโลยีในการผลิตและเก็บเกี่ยว เพื่อลดเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพข้าว พร้อมพัฒนาเกษตรกร Smart farmer ปัจจุบันจึงได้มีการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ข้าว ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อลดต้นทุนการผลิต และต่อรองราคาจำหน่ายกับคู่ค้า ได้มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานียังคงมุ่งมั่นพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้สามารถปลูกข้าวได้อย่างมีมาตรฐาน พร้อมทั้งผลักดันให้ข้าวของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นที่ยอมรับในตลาดสินค้าพรีเมียม และเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Smart Farmer คือเกษตรกรที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัล นวัตกรรม รวมถึงข้อมูล หรือแนวคิดทางธุรกิจแบบใหม่ เพื่อผลักดันประสิทธิภาพการผลิตของตัวเองให้ได้มากที่สุด ภายใต้งบประมาณที่เหมาะสมที่สุด
หลายคนเข้าใจว่าการทำงานของ Smart Farmer นั้นไกลตัว แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น การใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลการเกษตร การผลิตและการคำนวณหาการเพาะปลูกที่เหมาะสมที่สุด ก็เป็นขั้นแรกของ Smart Farmer แล้ว
แนวคิดของ Smart Farmer เพิ่มความเป็นไปได้ยิ่งขึ้นอีก เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีและระบบดิจิทัล ที่ทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ IoT การใช้งาน Big Data การใช้งานโดรน หรือการใช้หุ่นยนต์รูปแบบต่าง ๆ ร่วมกับการเกษตรก็สามารถหาได้ง่ายขึ้น ต้นทุนลดต่ำลง
การทำการเกษตรด้วยแนวคิด Smart Farmer นั้นครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนก่อนการหว่านเมล็ด จนถึงการขายสินค้า ทำให้เกษตรกรสามารถลดภาระของตัวเองได้ ด้วยการลงทุนในระบบที่ดีในระยะยาว