ไทยร่วมมือเยอรมนี ประกาศความสำเร็จโครงการข้าวลดโลกร้อน เพิ่มศักยภาพภาคเกษตร ลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 915,053 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
7 ธันวาคม 2565 โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตรกรรม (Thai-German Climate Programme – Agriculture) ประกาศความสำเร็จสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมวิถีการปลูกข้าวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาระบบการตรวจวัด รายงานและทวนสอบ (Monitoring, Reporting and Verification: MRV)
– การเพิ่มพื้นที่ “การทำนาข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ” มีศักยภาพสูงมากในการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อเกษตรกรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่าการผลิตข้าวตระหนักถึงประโยชน์ที่ได้และร่วมมือกันเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– วิทยากรหลักและวิทยากรเกษตรกรมากกว่า 30,000 คน ได้รับการฝึกอบรมการผลิตข้าวยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนแนวปฏิบัติอย่างยั่งยืนในการผลิตข้าวตามมาตรฐานสากล
– ผลลัพธ์ความร่วมมือไทย-เยอรมัน ช่วยให้ภาคเกษตรไทยสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง915,053 ตันคาร์บอนได้ออกไซด์เทียบเท่า
สำหรับภาคส่วนข้าว นับเป็นความก้าวหน้าของภาคเกษตรไทยในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ภาครัฐในระดับปฏิบัติการและฝ่ายวิจัยที่เกี่ยวข้อง และสามารถนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติเพื่อลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการปลูกข้าว
ข้าวมีบทบาทสำคัญกับการพัฒนาประเทศเพราะเป็นผลผลิตส่งออกหลักของภาคเกษตรไทย และยังเป็นอาหารหลักหล่อเลี้ยงประชากรไทยจากรุ่นสู่รุ่น อย่างไรก็ตาม รายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับที่ 2 (The 2nd Biennial Update Report: SBUR) ระบุว่า ภาคเกษตรไทยโดยเฉพาะวิถีการทำนาแบบดั้งเดิมที่นิยมให้มีน้ำขังอยู่ในแปลงนาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาก๊าซมีเทนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 55% ก๊าซมีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า
โครงการความร่วมมือไทยเยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตรกรรม มุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการข้าว สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญให้กับนักวิจัยด้านข้าวในการนำเทคโนโลยีมาใช้ และเรียนรู้วิธีการการตรวจวัด และการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติผ่านการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง เป็นการวางพื้นฐานบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยระบบ MRV สำหรับการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบบิ๊กดาต้า และติดตามความก้าวหน้าของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว และนำมาสู่การพัฒนาคู่มือการจัดทำระบบ MRV ในภาคข้าว เพื่อเป็นแนวทางส่งต่อการพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรในภาคเกษตรรุ่นใหม่
ตลอดระยะเวลา 5 ปีของการดำเนินโครงการ (พ.ศ 2561-2565) มีเกษตรกรและเจ้าหน้าที่จากภาคส่วนการเกษตรทั้งในส่วนกลางและในระดับจังหวัดเข้ารับการฝึกอบรมการผลิตข้าวยั่งยืนของโครงกา เป็นจำนวนมากถึง 30,389 ราย ใน 6 จังหวัดนำร่องในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทองอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี เพื่อขับเคลื่อนแนวปฏิบัติอย่างยั่งยืนในการผลิตข้าวตามมาตรฐานสากลและการนำเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำมาปรับใช้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารและลดภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรไม่ให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ โครงการยังได้ส่งมอบเครื่องก๊าซโครมาโตกราฟ ซึ่งใช้สำหรับการวิเคราะห์ปริมาณการปล่อยก๊าซจำนวน 4 เครื่อง เพื่อติดตั้ง ณ สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ศูนย์วิจัยข้าวในจังหวัดภาคกลางได้แก่ปราจีนบุรี ชัยนาท และจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุบลราชธานี เครื่องก๊าซโครมาโตกราฟสามารถตรวจวิเคราะห์ก๊าซได้หลายประเภทที่เก็บตัวอย่างมาจากแปลงนา การติดตั้งเครื่องก๊าซโครมาโตกราฟจะช่วยส่งเสริมศักยภาพของประเทศไทยในการตรวจวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจากการปลูกข้าวในหลากหลายนิเวศ เช่น การปลูกข้าวในพื้นที่เขตชลประทานและการปลูกข้าวแบบอาศัยน้ำฝน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยยังได้ประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับข้าวยั่งยืน (Thai Agricultural Standard for Sustainable Rice: TAS) เพื่อส่งเสริมให้นำวิธีการปลูกข้าวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสู่การปฏิบัติ เพื่อเป็นอีกเครื่องมือในการยกระดับภาคเกษตรและอุตสาหกรรมข้าวไทยตลอดห่วงโซ่การผลิต
นายกฤต อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า “นายกรัฐมนตรีประกาศในเวที COP 26 เมื่อปีพ.ศ. 2564 ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกำลังเตรียมพร้อมก้าวสู่ประเทศความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปีพ.ศ. 2608 ผ่านการขับเคลื่อนในรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สำหรับภาคข้าวการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ภาคเกษตรในระดับปฏิบัติการ เพิ่มผลผลิตและคุณภาพตลอดห่วงโซ่การผลิต และลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้”
“กรมการข้าวให้ความสำคัญกับการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกข้าว การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในระดับนักวิชาการและเกษตรกรในพื้นที่นำร่อง เพื่อนำไปสู่การนำระบบ MRV ไปสู่การปฏิบัติใช้ และสร้างการมีส่วนร่วมในระดับชุมชมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตข้าวคุณภาพสูง ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับข้าวยั่งยืน (TAS) อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นการพัฒนาภาคข้าวไทยอย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมการข้าวกล่าวเพิ่มเติม
นายไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และมาเลเซีย กล่าวว่า “ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภาคข้าว การผลิตข้าวยั่งยืนจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ”
“เรามีความภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและเยอรมนี และเราพร้อมเดินหน้าสนับสนุนพันธมิตรภาคเกษตรของไทยต่อไป ผลการดำเนินงานผ่านโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ภาคเกษตรกรรม จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกรที่เข้าร่วมและเจ้าหน้าที่ภาคเกษตรในระดับนักวิจัยและปฏิบัติการ ในการนำองค์ความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ มาปรับใช้กับวิถีเกษตรในปัจจุบัน เพื่อช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกได้อย่างแน่นอน”
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
GIZ ปฏิบัติงานในนามของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ รวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และองค์กรที่ให้ทุนอื่นๆ GIZ ดำเนินงานอยู่ในกว่า 120 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 22,000 คน ซึ่งร้อยละ 70 เป็นคนในประเทศ