นักวิทย์จีนพบ ‘พืชนอนหลับ’ เก่าแก่สุด 250 ล้านปี

การค้นพบของทีมนักวิจัยนานาชาติที่เผยแพร่ในวารสารเคอร์เรนต์ ไบโอโลจี (Current Biology) เมื่อวันพฤหัสบดี (16 ก.พ.) ระบุว่านิกทีนาสตี (Nyctinasty) หรือต้นไม้นอน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของพืชที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของกลางวันและกลางคืน อาทิ การหุบหรือกางใบ อาจมีมาตั้งแต่เมื่อ 250 ล้านปีก่อน

นิกทีนาสตี คล้ายคลึงกับการนอนหลับของมนุษย์ โดยเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวที่เป็นจังหวะชีวภาพ 24 ชั่วโมงของใบไม้ ซึ่งต้นกำเนิด ประวัติวิวัฒนาการ และประโยชน์ใช้สอยยังไม่ชัดเจนเนื่องจากขาดหลักฐานฟอสซิล จนกระทั่งคณะนักวิจัยพบฟอสซิลของพืชที่แสดงความเสียหายอันเกิดจากแมลง

คณะนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งนำโดยเฝิงจัว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ได้เปรียบเทียบรูปแบบสมมาตรของความเสียหายอันเกิดจากแมลงบนใบไม้หุบที่ยังมีชีวิต กับรูปแบบเดียวกันบนใบของพืชเก่าแก่ 250 ล้านปีที่สูญพันธุ์ไปแล้ว

คณะนักวิทยาศาสตร์สรุปว่าฟอสซิลใบไม้ข้างต้นถูกแมลงโจมตีขณะที่กำลังหุบหรือ “นอนหลับ” ซึ่งเป็นหลักฐานแรกของการนอนของต้นไม้ทางใบในฟอสซิลพืช

นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญยังวิเคราะห์ตัวอย่างจำนวนมากและค้นพบว่าการนอนของต้นไม้ทางใบมีวิวัฒนาการอย่างเป็นอิสระในกลุ่มพืชที่หลากหลาย

22A237D9 9688 42F1 8067 58F058C8B9DF

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว(Xinhua)