เมื่อเราเอ่ยถึงกล้วย หลายคนจะนึกถึงกล้วยพันธุ์ต่างๆ มากมาย ไล่ไปตั้งแต่กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ แต่จะมีซักกี่คนที่นึกถึง”กล้วยหิน” อาจจะเป็นเพราะเป็นพืชเฉพาะพื้นที่ ที่จะพบได้เพียงในจังหวัดยะลาเท่านั้น ทำให้เราไม่คุ้นชื่อ แต่เมื่อการขนส่งดีขึ้น การสื่อสารง่ายขึ้น ทำให้ชื่อเสียงของกล้วยหินเริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ ไม่ได้จำเพาะเจาะจงแค่เพียงพื้นที่จังหวัดยะลาอีกต่อไป จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของยะลาและยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI: Geographical Indication) ที่สามารถปลูกได้ดีในทำเลที่มีหินกรวดเลียบฝั่งของแม่น้ำปัตตานีในอำเภอบันนังสตาเท่านั้น จึงเป็นที่มาของชื่อ “กล้วยหิน”
กล้วยหินเป็นกล้วยที่มีเนื้อเยอะและมีความนุ่มหนึบ เปลือกหนา นอกจากนำผลสุกมารับประทานโดยการนำไปต้มหรือปิ้งก่อน ยังสามารถนำรากกล้วยมาต้มในน้ำสะอาด ใช้รักษาอาการท้องร่วง แก้ไข้ ดับกระหาย ได้ และส่วนของหยวกกล้วยและหัวปลีใช้รักษาอาการกรดในกระเพาะอาหาร ควบคุมน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน ส่วนของใบตองกล้วยนำไปย่างไฟเพื่อประคบแผลพุพองและผื่นคัน ส่วนของกล้วยดิบนั้นนำมาผลิตเป็นผงแป้งเพื่อรักษาแผลอักเสบบริเวณผิวหนัง สรรพคุณที่โดดเด่นอีกอย่างของกล้วยชนิดนี้คือมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงช่วยชะลอวัยและบำรุงร่างกายได้ดี
โดยทั่วไปกล้วยหินจะชอบขึ้นในบริเวณที่มีดินกรวดหิน และดินร่วนปนดินเหนียว แตกกอไว ในแต่ละต้นสามารถแตกเป็นหลายกอทำให้ได้ผลผลิตเยอะ ด้วยความที่เป็นกล้วยป่าจึงมีความต้านทานโรคดี ปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวได้หลายปี สามารถปลูกเพื่อเป็นพืชแซมในสวนต่างๆ เพื่อให้ร่มเงา และยังสามารถปลูกเป็นพืชหลักเพื่อนำไปแปรรูปและส่งขายในตลาดได้ราคาดี
หน่อพันธุ์ที่นำมาปลูกควรมีอายุประมาณ 4 เดือน และควรปลูกในที่ที่ระบายน้ำดี หลังจากปลูกได้ 1-2 เดือน เมื่อต้นกล้วยแทงหน่อออกมาให้ตัดแต่งหน่อออก ให้เก็บไว้เพียงกอละ 4 ต้น หมั่นตัดใบที่เหี่ยวแห้งออก และให้ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกก่อนหน้าฝน เมื่อต้นกล้วยอายุได้ 8 เดือนจะเริ่มแตกปลีกล้วยออกมา และภายใน 4 เดือนหลักจากแตกปลี เมื่อผลกล้วยมีสีเขียวจัดจึงเริ่มทำการเก็บเกี่ยว ในแต่ละปีให้หมั่นตัดแต่งหน่อและใบเพื่ออย่างสม่ำเสมอ แต่ละต้นควรไว้ใบเพียง 10 ใบ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค และเมื่อกล้วยเริ่มแตกเครือให้ตัดใบออก ให้เหลือเพียง 8 ใบ เพื่อให้กล้วยหินมีความอุดมสมบูรณ์ มีผลกล้วยที่อวบและมีน้ำหนักดี หากตั้งใจทำเพื่อขายต้องทำการห่อกล้วยเพื่อให้ได้ผลกล้วยที่สวย ไม่มีบาดแผล