สศก.ลงพื้นที่ชัยนาทหารือร่วม “พรีเมียม บีฟ” เกาะติดโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาด “โคเนื้อ”รองรับ FTA

นางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานของ “โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเนื้อรองรับ FTA “ ณ คอกกลาง (Central Feedlot) ของบริษัท พรีเมียม บีฟ จำกัด อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ซึ่ง สศก. ได้ลงพื้นที่วันที่ 9 พฤษภาคม 2565

283945225 316526730653670 2752599343180189928 n
พัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเนื้อรองรับ FTA

โดยโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเนื้อรองรับ FTA มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถ “การผลิตโคเนื้อและเนื้อโค” ให้สามารถแข่งขันได้ พัฒนาประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์เพิ่มมูลค่า ลดต้นทุน สร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายการผลิตตลอดห่วงโซ่ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถการตลาด สามารถแข่งขันรองรับผลกระทบที่จะเกิดจาก FTA ให้แก่กลุ่มเกษตรกร 4 เครือข่าย ได้แก่

1) เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อล้านนา จังหวัดเชียงราย

2) วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อคุณภาพดีตากฟ้าจังหวัดนครสวรรค์

3) เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อไทย จังหวัดราชบุรี

4) วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเครือข่ายพัฒนาโคเนื้อจังหวัดตาก และบริษัท พรีเมียม บีฟ จำกัด มีระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี ตั้งแต่ปี 2563 – 2571 วงเงินสนับสนุน 161.78 ล้านบาท โดยมีกรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักสำหรับการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเนื้อรองรับ FTA” ได้ดำเนินการการก่อสร้างคอกกลาง โรงเก็บอาหาร สำนักงาน อาคารปฏิบัติการ และปรับปรุงคอกกลาง ซื้อโคก่อนขุนและปัจจัยการผลิต เพื่อเข้าเลี้ยงขุนในคอกกลาง Central Feedlot) จัดซื้อครุภัณฑ์และอุปกรณ์ และซื้อโคขุนปลายน้ำเพื่อแปรสภาพ

อย่างไรก็ตามในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้โครงการฯ จะประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 การแพร่ระบาดของ“โรคลัมปิสกิน” (Lumpy Skin Disease) และ “โรคปากเท้าเปื่อยในโค” รวมถึงภาวะเศรษฐกิจหดตัวต้นทุนด้านอาหารสัตว์และค่าขนส่งที่สูงขึ้น จึงอาจส่งผลกระทบบางส่วนต่อแผนการดำเนินงาน สศก. จึงได้ลงพื้นที่และหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการเข้ามากำกับดูแลติดตามควบคุมการดำเนินงานของทั้ง 4 เครือข่าย และ 1 บริษัท ให้ดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน

การลงพื้นที่ครั้งนี้ สศก. ในฐานะหน่วยงานผู้ดูแลกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือ กองทุน FTA ได้ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว โดยกำหนดแผนจะลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานรวมถึงการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ไตรมาส เพื่อสร้างระบบการเลี้ยงโคตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำให้เป็นไปอย่างครบวงจร โดยจะมีการรายงานผลการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกรทั้ง 4 เครือข่ายให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ “สินค้าโคเนื้อ” นับเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากตลาดภายในประเทศอย่างมาก แต่ปริมาณการผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการซึ่งหากประเทศไทยสามารถผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพได้ จะส่งผลให้ไทยสามารถลดการนำเข้าเนื้อโคจากต่างประเทศได้ยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพ “การผลิตโคเนื้อ” ตั้งแต่ผลิตจนถึงตลาด ซึ่งกองทุน FTA ยินดีให้คำปรึกษาแก่ “กลุ่มเกษตรกร” หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีข้อเสนอโครงการต่าง ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรไทย โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2561 4727 หรือ อีเมล [email protected] รวมถึงช่องทางผ่านเว็บไซต์ www.กองทุนปรับโครงสร้างภาคเกษตร .com และ Facebook: กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร (กองทุน สกท.)