กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไก่ดำสมุนไพรบ้านเซิงหวาย ตัวอย่างกลุ่มเข้มแข็ง ผลิต-แปรรูป ไก่ดำ สินค้าอัตลักษณ์โดดเด่น เมืองพิษณุโลก

นายประเสริฐศักดิ์ แสงสัทธา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประเด็นการเกษตรที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น สำหรับจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ สศท.2 ได้เน้นการขับเคลื่อนสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ คือ “ไก่ดำ” หนึ่งในสินค้าเกษตรอัตลักษณ์โดดเด่นของจังหวัด

โดยหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก สำนักงานปศุสัตว์อำเภอพรหมพิราม สำนักงานเกษตรจังหวัดพิษณุโลก และสถานีพัฒนาที่ดินพิษณุโลกให้การส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงไก่ดำเชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นของจังหวัดพิษณุโลก

302242179 383208270652182 7416769603464108738 n
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไก่ดำสมุนไพรบ้านเซิงหวาย

สศท.2 ได้ติดตามสถานการณ์การผลิตไก่ดำ พบว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไก่ดำสมุนไพรบ้านเซิงหวาย ตำบลตลุกเทียม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก นับเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการผลิต มีการบริหารงานและการเติบโตของธุรกิจที่ดีโดยดำเนินการผลิตแปรรูป และจำหน่ายครบวงจร ในรูปแบบกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก เริ่มดำเนินการปี 2559

นอกจากนี้ยังเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เมื่อปี 2560 และโครงการขับเคลื่อนการเกษตรระดับหมู่บ้านสู่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ในปี 2565 รวมทั้งเป็นศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงไก่ดำให้แก่ผู้สนใจทั่วไป ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่ม 30 ราย มีไก่ดำจำนวน 24,000 ตัว (เฉลี่ย 800ตัว/ครัวเรือน) โดยมี นายประเดิม เมืองมูล เป็นประธานกลุ่มและเป็นผู้บุกเบิกการเลี้ยงไก่ดำ

ด้านการดำเนินงานของกลุ่มพบว่า ทางกลุ่มได้นำไก่ดำสายพันธุ์เคยู-ภูพาน ที่ศึกษาวิจัยโดย ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีลักษณะขนสีขาวทั้งตัวผู้และตัวเมีย หนังดำ เนื้อดำ กระดูกดำ เลี้ยงง่าย โตไว และนิสัยไม่ก้าวร้าว มาเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ โดยตัวผู้โตเต็มที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 3 – 3.5 กิโลกรัม ตัวเมียน้ำหนักเฉลี่ย 2.8 – 3 กิโลกรัม

ซึ่งเกษตรกรจะเพาะพันธุ์โดยฟักไข่ด้วยตู้อบพลังงานไฟฟ้า การอนุบาล การเลี้ยงดูในกรงโดยแยกเป็นห้องๆ สำหรับแม่พันธุ์กับพ่อพันธุ์ และห้องขุนโดยเฉพาะ เป็นการเลี้ยงแบบกึ่งขังกึ่งปล่อย จำนวนไก่ดำเฉลี่ย 500 – 800 ตัว/รุ่น/ฟาร์ม แต่ละรุ่นใช้เวลาเลี้ยง 50 – 100 วัน หรือประมาณ 3 – 7 รุ่น/ปี/ฟาร์ม โดยใช้วัสดุธรรมชาติสร้างโรงเรือนและวัตถุดิบอาหารสัตว์จะใช้พืชอาหารสัตว์ที่สามารถปลูกเองได้ เช่น ข้าวโพด กากถั่วเหลือง ปลาป่น ใบหม่อน ตะไคร้ หรือเรียกว่า การเลี้ยงไก่ดำอารมณ์ดี จะทำให้ไก่ดำไม่เครียด และทำให้ผลผลิตแบบธรรมชาติอาหารปลอดภัย ให้ผลผลิตไก่ดำ เฉลี่ย 650 ตัว/รุ่น/ฟาร์ม (น้ำหนักเฉลี่ย 0.9 กิโลกรัม/ตัว)

ราคาที่เกษตรกรขายไก่ดำมีชีวิต ณ เดือนสิงหาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่72 บาท/ตัว หรือ 80 บาท/กิโลกรัม สำหรับไข่ไก่สมาชิกจำหน่ายให้กับกลุ่มฯ เพื่อนำไปฟักเป็นลูกไก่ราคา 8 บาท/ฟอง และมูลไก่ ราคา 18 บาท/กระสอบ

ด้านการแปรรูปและการตลาด ทางกลุ่มสามารถผลิตไก่ดำได้ประมาณ 5 – 7 ตัน/เดือน โดยจะรับซื้อผลผลิต ไก่ดำจากเกษตรกรสมาชิกเพื่อนำไปแปรรูป โดยผลผลิตร้อยละ 80 นำไปแปรรูปแช่แข็งส่งจำหน่ายห้างสรรพสินค้า อาทิ สยามแม็คโครท๊อปซุปเปอร์มาร์เก็ต ส่วนอีกร้อยละ 20 นำไปแปรรูปอาหารพร้อมรับประทานและผ่านการรับรองตามมาตรฐาน อย. อาทิ ไก่ดำตุ๋นยาจีน ซุปไก่ ซุปผง ไข่ขาวนึ่ง และบริโภคในครัวเรือน

นอกจากนี้ ด้านการวิจัยพัฒนาสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และสถาบันการศึกษาได้ทำการศึกษาวิจัยการนำผลพลอยได้ มาสร้างมูลค่าเพิ่ม อาทิ เลือดไก่ ขนไก่ และหนังไก่ ผลิตเป็นคอลลาเจนผง สบู่ และโลชั่น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลอง

“ไก่ดำ ตามประวัติศาสตร์ของจีนไก่ดำถือว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางยาอายุวัฒนะ หรือถือว่าเป็นอาหารของฮ่องเต้เท่านั้น และยังช่วยในเรื่องการบำรุงสมองและต้านทานโรค รวมทั้งเป็นอาหารที่มีไขมันและคลอเรสเตอรอลต่ำ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่หันมาใส่ใจสุขภาพ และเลือกรับประทานอาหารที่มีสรรพคุณทางยาเสริมภูมิคุ้มกันมากขึ้น ดังนั้น การผลิตไก่ดำสมุนไพรของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเซิงหวาย จึงตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการผลิตที่ต้องผลิตในโรงเรือนที่ได้มาตรฐาน และสินค้ามีความปลอดภัยตามมาตรฐานทั้ง GAP และ อย. ทั้งนี้ หากท่านสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่คุณประเดิม เมืองมูล โทร. 08 7056 3967 , Facebook : P.M ฟาร์มไก่ดำ KU ภูพาน เมืองพิษณุโลก ยินดีให้คำปรึกษากับทุกท่าน” ผู้อำนวยการ สศท.2 กล่าวทิ้งท้าย