“สุราชุมชน” กับคำถาม “สุราพื้นบ้าน”…ควรก้าวหน้าหรือถอยหลัง

ทุกครั้งเมื่อเอ่ยถึงการผลักดันสุราชุมชนซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านว่า ควรมีเสรีในการทำไว้ดื่มในครอบครัว หรือควรส่งเสริมชุมชน และวิสาหกิจชุมชนให้ผลิตเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ และยังช่วยแปรรูผลผลิตทางการเกษตร แต่ก็มักมีเสียงที่แย้งในมุมการควบคุมด้วยกฎหมาย คุณภาพ มาตรฐาน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้วย และป้องกันไม่ให้ส่งเสริมการดื่มสุราเพิ่มขึ้น

และเพราะการควบคุมบวกกับระบบทุน ทำให้หลายปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายเล็กแทบไม่มีโอกาสสู้กับรายใหญ่ เพราะแพ้ตั้งแต่ต้นทุนการผลิต ผลิตได้น้อย ขายได้น้อย แต่ต้องจ่ายภาษีสูง

แล้วสุราชุมชน สุราพื้นบ้านจะยังมีอนาคตหรือไม่

ตาห้วย สูนขุนทด ประธานสหกรณ์การเกษตรประชาพัฒนา จังหวัดนครราชสีมา ให้คำตอบกับเราว่า ในฐานะคนต้มเหล้าอายุ 70 ปี และหัดต้มเหล้าตั้งแต่จำความได้ เขาไม่กล้าคาดหวังถึงอนาคตของสุราชุมชนแค่ตั้งใจจะต้มเหล้าขายไปจนกว่าจะไม่มีเรี่ยวแรงเท่านั้น เพราะนี้คืออาชีพที่ทำเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว

และสิ่งหนึ่งที่ยังพอเป็นเกียรติศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจคือ ยังคงมีชาวต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีนและคนญี่ปุ่นขอเขามาเรียนรู้สูตรการทำเหล้าต้มจากข้าวเหนียวอยู่เสมอ

“มีคนจีนมาขอซื้อสูตร ให้เงินหลายหมื่นเลยนะ แต่พ่อไม่ขายหรอก อยากเก็บไว้ให้ลูกหลาน ให้เขามาทำต่อจากเรา” ตาห้วย สูนขุนทด กล่าว

การผลักดัน พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ในช่วงที่ผ่านมา สำหรับคุณตาห้วยแล้ว เป็นเหมือนข่าวดีให้พอชื่นใจ ที่นักการเมืองรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีนักการเมืองมากหน้าหลายตา หลายพรรคการเมืองแวะเวียนเข้ามาหามาถามข้อมูลจากคุณตา และให้ความหวังว่าจะผลักดันสุราชุมชนให้มีอนาคต 

คุณตาไม่ได้คาดหวังว่าจะเป็นจริง เพราะเคยผ่านยุคส่งเสริม OTOP ที่สุราชุมชนเป็นที่รู้จัก เคยทำสาโทขายมีชื่อเสียง ยอดขายพุ่งสูง สุดท้ายกระแสก็ลดลง คนดื่มน้อย ผู้ประกอบการสุราพื้นบ้านเริ่มล้มหายตายจาก บ้างก็บอกสู้ภาษีไม่ไหว ขายได้น้อย มีเพียงเหล้าต้มที่ยังขายได้ต่อเนื่อง 

ล่าสุดการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560 ที่คุณตาห้วยบอกว่า แม้จะมีคนมองว่าเป็นการแก้กฎหมายปาดหน้า ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า แต่สำหรับคนต้มเหล้า ก็มีความหวัง แต่ต้องให้มีการออกระเบียบแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพราะเขาเห็นลู่ทางที่อาชีพนี้จะส่งต่อถึงลูกหลาน

โดยเฉพาะ”การแก้กฎหมาย”ให้สุรากลั่นชุมชนโรงเล็ก จากเดิมต้องมีกำลังการผลิตไม่เกิน 5 แรงม้า กำลังคนไม่เกิน 7 คน ขยายให้ โรงขนาดกลาง มีกำลังการผลิตไม่เกิน 50 แรงม้า กำลังคนไม่เกิน 50 คน ช่วยให้การผลิตสุราชุมชน สามารถขยายตัวได้ เนื่องจากกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ต้นทุนในการผลิตก็จะถูกลง

คุณตาช่วยก็มีความมั่นใจ จะเพิ่มหม้อต้มกลั่นเหล่าได้อีก 3 เตา ให้ลูกหลานมาช่วยผลิต ถ้าขายได้เพิ่มมากขึ้น ก็จะพอมีเงินทุนมาปรับปรุงโรงเรือนเพิงสังกะสีที่เก่าทรุดโทรม

กฎหมายที่ชัดเจนเป็นความหวังเดียวในตอนนี้ ส่วนความหวังว่าภาครัฐจะมาส่งเสริม คุณตาห้วยบอกกับเราด้วยรอยยิ้มว่า

“ผมเป็นแค่คนต้มเหล้า ถ้าเหล้ามันดีต่อสุขภาพ ผมคงได้เป็นปราชญ์ชุมชน คงได้ไปสอนเด็กๆในโรงเรียนให้รู้จักภูมิปัญญาของชุมชน แต่เหล้าก็เป็นได้แค่เหล้า”

#สุราชุมชน