สถานทูตเตือนคนไทยห้ามนำ “กัญชา กัญชง” เข้าญี่ปุ่น ฝ่าฝืนโทษตามกฎหมายถึงจำคุก

เพจสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้โพสต์ข้อความว่า

ขอแจ้งเตือนคนไทย ห้ามนำเข้า “กัญชา กัญชง” หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของพืชชนิดดังกล่าว เข้ามาในประเทศญี่ปุ่น หากฝ่าฝืน มีโทษตามกฎหมายญี่ปุ่น

**โปรดระวัง การรับฝากสิ่งของผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศญี่ปุ่น**

289027638 2020005951534052 8618590861799395711 n

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวว่า ตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้ “ปลดกัญชา”และ“กัญชง” ออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. ​2565 เป็นต้นมาซึ่งมีผลให้ทุกส่วนของ “ต้นกัญชา”และ “กัญชง” ไม่เป็นยาเสพติดยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% แต่ผลทางกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น

ทั้งนี้ ขอย้ำเตือนกับผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์หรือยาที่มีส่วนผสมของ “กัญชา” ตลอดจนมีส่วนต่าง ๆ ของกัญชา กัญชงในครอบครองที่จะเดินทางไปต่างประเทศให้มีการตรวจสอบกฎหมายของประเทศปลายทางเกี่ยวกับข้อกำหนด การอนุญาต ข้อห้ามโดยละเอียด หากไม่แน่ใจไม่ควรนำทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมหรือส่วนต่าง ๆ ของกัญชา กัญชง ติดตัวโดยสารไปต่างประเทศ เนื่องจากหลายประเทศกัญชา กัญชง ยังเป็นยาเสพติดและมีบทลงโทษที่รุนแรง

น.ส.ไตรศุลี เปิดเผยว่า สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และสถานเอกอัครราชทูต ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ได้ออกประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊กของสถานเอกอัครราชทูตทั้ง 2 แห่งเตือนคนไทยไม่ให้นำกัญชา กัญชงหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของพืชชนิดดังกล่าวเข้าทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งหากฝ่าฝืนมีโทษหนักทั้งปรับ จำคุก และมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต

ทั้งนี้ รัฐบาลสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง ทางการแพทย์และเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ไม่สนับสนุนการใช้เพื่อสันทนาการ สูบ หรือเสพ ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศควบคุมไม่ให้มีการสูบ ส่งกลิ่นสร้างความเดือดร้อนรำคาญต่อผู้อื่น ตลอดจนประกาศให้กัญชา กัญชงเป็นสมุนไพรควบคุม ห้ามจำหน่ายแก่เยาวชนอายุต่ำกว่า 20ปี สตรีมีครรภ์ หรือสตรีที่กำลังให้นมบุตร ขณะที่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกคำแนะนำ คำเตือนเกี่ยวกับการใช้พืชกัญชา กัญชง ที่เหมาะสมโดยต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีผลบังคับใช้เมื่อ 9 มิถุนายนที่ผ่านมาและเนื่องจากพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภา และกระทรวงสาธารณสุขออกมาตรการ 2 มาตรการ คือ

(1) การออกคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางควบคุมเหตุรำคาญจากการกระทำให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด มาตรการนี้กระทำได้แค่เพียงระงับการสูบนั้น ๆ ไม่ให้ส่งกลิ่นหรือควันรำคาญผู้อื่นเท่านั้น แต่จะไม่สามารถห้ามไม่ให้เด็กและเยาวชนสูบกัญชาได้เลย

(2) การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปลูกกัญชาในครัวเรือนมา“จดแจ้ง” ผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ”

แต่นโยบายนี้ทำได้เพียงการ “ขอความร่วมมือ” เพราะจะ “บังคับให้จดแจ้ง” ได้ต่อเมื่อพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … ผ่านการตราเป็นกฎหมายแล้วเท่านั้น

ดังนั้นขณะนี้หากผู้กรอกข้อมูลให้ข้อมูลเท็จ หรือให้ข้อมูลแล้วไม่ปฏิบัติตามนั้น เช่น จดแจ้งว่าปลูกเพื่อใช้รักษาโรคตนเอง แต่จริง ๆ นำช่อดอกไปสูบเพื่อความบันเทิง หรือนำไปใส่อาหารขายก็ไม่สามารถเอาผิดได้

จึงเรียกได้ว่าเกิด “ภาวะสุญญากาศ” คือ ไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอใด ๆ และต่อไปไทยอาจเป็น ประเทศที่กัญชาเสรีที่สุดในโลก ก็เป็นได้