นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญเรื่องดินและปุ๋ย ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการปลูกพืชให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ นอกจากส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ปรับปรุงดินให้มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างที่เหมาะสม ใช้พืชปุ๋ยสด และการใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักการ 4 ถูก ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกวิธี แล้ว กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร ดำเนินโครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร ภายใต้งบอุดหนุนโครงการวิจัยการเกษตร สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) นำเทคโนโลยีการผลิตและใช้แหนแดง สายพันธุ์อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) จากกรมวิชาการเกษตรไปขยายผลสู่เกษตรกร โดยแหนแดงสายพันธุ์นี้มีขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์ได้เร็ว ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ปรับปรุงโครงสร้างดินให้ดีขึ้น หากใช้ผสมกับดินปลูกจะช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยไนโตรเจนและธาตุอาหารชนิดอื่น เช่นโพแทสเซียมได้
สำหรับผลการดำเนินงานที่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนที่มีพืชหลักเป็นข้าว และมีศักยภาพในการเป็นต้นแบบขยายผลงานวิจัยสู่ชุมชน ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระบุรี สมุทรสงคราม ระยอง กาฬสินธุ์ สุรินทร์ พังงา พัทลุง กำแพงเพชร และจังหวัดพะเยา พบว่า เกษตรกรจำนวน 323 ราย สามารถผลิตแหนแดง ได้กว่า 40 ตัน และนำไปใช้ในนาข้าว พืชผัก บางรายใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ ซึ่งตัวอย่างผลของทดลองการใช้แหนแดงในนาข้าวระยะแรก พบว่าจังหวัดสุรินทร์ ปลูกข้าว กข 15 ใส่แหนแดง รวมจำนวน 2,092 กิโลกรัม ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจาก 475 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 510 กิโลกรัมต่อไร่
จังหวัดพังงา ปลูกข้าว กข 43 ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจาก 502 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 541 กิโลกรัมต่อไร่ นอกจากนี้ แหนแดงไม่เพียงช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดินเท่านั้น แต่ยังทำให้ธาตุอาหารพืชในดินบางชนิดเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ผลการวิเคราะห์ดินของจังหวัดพังงา โพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ จาก 42.06 mg/kg เป็น 43.81 mg/kg แคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ จาก 540.60 mg/kg เป็น 739.22 mg/kg แมกนีเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ จาก 89.65 mg/kg เป็น 146.78 mg/kg
จังหวัดพัทลุงปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 หลังจากใช้แหนแดงในนาข้าวช่วยร่นระยะเวลาการเก็บเกี่ยวข้าวให้เร็วขึ้นประมาณ 10 วัน ผลจากการใช้เลี้ยงสัตว์ สามารถลดค่าอาหารของเกษตรกรลงได้หลายราย และการใช้แหนแดงในพืชผักที่ปลูกไว้บริโภคเองในครัวเรือน ส่งผลให้ผักมีลักษณะต้น ใบ เขียว สมบูรณ์ดีขึ้น
อย่างไรก็ตามที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างผลของการใช้แหนแดงในนาข้าวฤดูกาลแรก ยังคงต้องเก็บข้อมูลการตอบสนองของพื้นที่ในฤดูกาลผลิตถัดไปต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นผลการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การยอมรับเทคโนโลยีของเกษตรกรในวงกว้างต่อไป
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากสมาชิก ศดปช. ที่เป็นนักวิจัยร่วมของโครงการฯ ผลิตและใช้แหนแดงเป็นแล้ว ได้ดำเนินการขยายผลไปสู่เพื่อนเกษตรกรในชุมชน ทั้งในรูปแบบการมาศึกษาดูงานในแปลงต้นแบบของ ศดปช. แปลงของสมาชิก ศดปช. และผ่านการเข้าร่วมงานวันรณรงค์การผลิตและใช้แหนแดง แล้ว จำนวน 1,336 ราย ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มเกษตรกร เกษตรกรแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต Young Smart Farmer และเกษตรกรทั่วไป อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตรตั้งเป้าจะขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงไปสู่เกษตรกรในชุมชนเพื่อมุ่งเป้าให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตรผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรในประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดต้นทุนปุ๋ยเคมี ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้นในระยะยาว หากเกษตรกรท่านใดสนใจอยากเรียนรู้เรื่องแหนแดง สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศดปช. 9 แห่ง ในพื้นที่ 9 จังหวัดข้างต้น หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน