สารพันปัญหามะพร้าวไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกกะทิเป็นอันดับที่ 1 ของโลก นอกจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นกะทิกล่องแล้ว ยังมีอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นมะพร้าวอ่อน ถ่านจากกะลามะพร้าว ซึ่งเป็นถ่านที่มีคุณภาพดี แต่ปัญหาในการปลูกมะพร้าวมีทั้งแมลง ต้นพันธุ์ไม่ดี ขาดแรงงานในการเก็บลูกมะพร้าว โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องของแรงงาน ทำให้ประเทศไทยถูกกีดกันทางการค้า ต่างชาติออกมาต่อต้านการใช้กะทิจากประเทศไทย เนื่องจากใช้ลิงในการเก็บมะพร้าว โดยเข้าใจว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์

ในประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมกว่า 130,000 ไร่ ผลผลิต320,000 ตัน ปลูกมากที่สุดในจังหวัดราชบุรี มะพร้าวที่ส่งออกต่างประเทศจะต้องมีตราของ GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (GI คือ เครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตเฉพาะเจาะจง โดยคุณภาพหรือเอกลักษณ์ของสินค้านั้นเป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว หรือกล่าวได้ว่าเป็นแบรนด์ของท้องถิ่นนั้น ๆ) เช่น มะพร้าวราชบุรี บ้านแพ้วบางพระ ฯลฯ ซึ่งมะพร้าวที่ส่งออกมีหลายรูปแบบ แต่มะพร้าวที่แพงที่สุดคือมะพร้าวลูกสีเขียว เพราะผิวของลูกมะพร้าวจะมีความเนียนสวย ไม่มีตำหนิ

capture 20240420 180205อัน

นอกจากมะพร้าวที่ซื้อขายกันเป็นลูก ๆ แล้ว ยังมีการนำน้ำมะพร้าวมาบรรจุขวดขาย ซึ่งมีหลากหลายแบรนด์ ผู้ที่เคยดื่มน้ำมะพร้าวจากขวดจะสังเกตได้ว่าน้ำมะพร้าวบางแบรนด์จะมีสีและรสชาติ ไม่เหมือนกับน้ำมะพร้าวในลูก เนื่องจากการบรรจุในขวดจำเป็นต้องผ่านการพาสเจอไรซ์ ทำให้สีและกลิ่นของน้ำมะพร้าวเปลี่ยนไป แต่หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงจะมีนวัตกรรมในการนำมะพร้าวไปผ่านความดันเพื่อฆ่าเชื้อ จึงจะทำให้สีและรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งน้ำมะพร้าวที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวจะมีราคาสูง จึงนิยมขายที่ตลาดต่างประเทศเป็นหลัก

capture 20240420 180949าาา

ปัจจุบันตามท้องตลาด จะมีมะพร้าวอ่อน 2 สายพันธุ์ ที่ปะปนกันมา และเรียกรวมกันว่าเป็น มะพร้าวน้ำหอม แต่แท้จริงแล้วมีทั้งมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวน้ำหวาน ซึ่งทั้ง 2 สายพันธุ์นี้จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมมะพร้าวอ่อน

ปัญหาของมะพร้าวในประเทศไทย

ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ในการปลูกมะพร้าว คือ เรื่องโรคและแมลง ทำให้ดอกร่วง ใบไหม้ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ฯลฯ ทำให้ผลผลิตของมะพร้าวลดลง แมลงที่มีผลต่อผลผลิตของมะพร้าวที่สำคัญมีอยู่ 2 ชนิด คือ

หนอนหัวดำ พบครั้งแรกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลักษณะลำตัวมีสีเหลือง หัวสีดำ เมื่ออายุมากขึ้นสีที่หัวจะเข้มขึ้น สีลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีลายพาดตามลำตัว เมื่อโตเต็มวัยจะลอกคราบเป็นผีเสื้อและวางไข่ต่อไป เป็นศัตรูที่ทำลายใบมะพร้าวเฉพาะระยะตัวหนอนเท่านั้น โดยแทะกินผิวใบบริเวณใต้ใบแก่ จากนั้นจะถักใย ถ่ายมูลผสมกับเส้นใยสร้างเป็นอุโมงค์คลุมตัว หากการทำลายรุนแรงจะทำให้มะพร้าวตายได้

capture 20240420 174555ออ

แมลงดำหนาม ระยะหนอนจะมีสีครีม เคลื่อนไหวช้า ลำตัวค่อนข้างแบน มีส่วนคล้ายหนามยื่นออกมาจากลำตัวทุกปล้อง โดยการลอกคราบทุกครั้งตัวหนอนจะมีสีน้ำตาลเข้มขึ้น จนเข้าสู่ระยะดักแด้ แล้วกลายเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งเป็นด้วงปีกแข็งที่มีขนาดเล็ก ลำตัวค่อนข้างแบน หัวและท้องมีสีน้ำตาล อกสีเหลืองส้ม ปีกคู่หน้าสีดำ เป็นร่องเล็ก ๆ ตามความยาวปีก ทั้งระยะตัวหนอนและตัวเต็มวัยจะทำลายมะพร้าว โดยซ่อนตัวในใบอ่อน และกัดกินยอดอ่อนโดยเฉพาะยอดที่ยังไม่คลี่ ทำให้ยอดอ่อนของมะพร้าวชะงัก การเจริญเติบโต หากถูกทำลายรุนแรงติดต่อกันจะทำให้ใบแห้งกลายเป็นสีน้ำตาลหลายใบ มองเห็นเป็นสีขาวซึ่งชาวสวนเรียกว่า “โรคหัวหงอก”

capture 20240420 174841สสส

ปัญหาที่เกิดจากแมลงทั้ง 2 ชนิดนี้ยังแก้ไขได้ยาก เนื่องจากมะพร้าวเป็นพืชที่มีต้นสูง กำจัดได้ยาก ทำให้อุตสาหกรรมมะพร้าวได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก การใช้แตนเบียนในการควบคุมแมลงศัตรูพืชตามธรรมชาติ การป้องกันหรือการใช้สารเคมีก็ทำได้ยาก จึงเป็นวิธีการแก้ปัญหาได้ไม่ดีเท่าที่ควร

การขยายตัวของเมือง การสร้างโรงงาน บ้านจัดสรรต่าง ๆ ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ทำให้พื้นที่ที่เคยปลูกมะพร้าวทำน้ำตาล เช่น ในจังหวัดสมุทรสงคราม ต้นมะพร้าวถูกโค่นทิ้งเป็นจำนวนมาก พันธุกรรมของมะพร้าวต้นเตี้ยบางสายพันธุ์จึงหายไป หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรง การเกิดภัยพิบัติ เช่น การเกิดสึนามิเมื่อปี 2004 ที่ทำให้มะพร้าวพันธุ์เสียหายและโค่นล้มไปเป็นจำนวนมาก

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ก่อตั้งธนาคารพันธุกรรมมะพร้าวขึ้น โดยรวบรวมสายพันธุ์มะพร้าวนำมาปลูกไว้กว่า 200 สายพันธุ์ ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลมะพร้าวอ่อน มะพร้าวหายาก มะพร้าวแกง มะพร้าวน้ำตาล จากแหล่งต่าง ๆ ที่มาของมะพร้าวแต่ละสายพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีในการตรวจหาพันธุกรรมพืช การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ปลูกได้อีกด้วย สามารถค้นหาข้อมูลของสายพันธุ์ได้ทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร (http://sinin.kps.ku.ac.th/cocomate)