ปธ.กมธ.แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สผ. แนะรัฐจัดงบประมาณดำเนินโครงการให้ตรงความต้องการ “เกษตรกร”

นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ประธานคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะแถลงข่าวเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมาธิการซึ่งมีการพิจารณางบเงินอุดหนุนสำหรับสมทบในการจัดซื้อและซ่อมแซมครุภัณฑ์การเกษตรและเครื่องจักรกลการเกษตรให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 15,255 ล้านบาท ตามโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตของกรมการข้าว โดยคณะกรรมาธิการได้เชิญกรมการข้าว สำนักงบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรี สมาคมชาวนาและเกษตรกรรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจง

โดยทางสมาคมชาวนาและเกษตรกร มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะว่า กรมการข้าวควรเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้มีความหลากหลาย กระจายพันธุ์ข้าวไปยังแหล่งต่าง ๆ ที่มีขีดความสามารถในด้านการขยายและจำหน่ายพันธุ์ข้าว พร้อมขอภาครัฐคงโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.6 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ โดยไม่อยากให้ปรับเปลี่ยนเป็น”โครงการศูนย์ข้าวชุมชน”และขอให้แยกโครงการทั้งสองออกจากกันและไม่เกี่ยวข้องต่อกันในการใช้งบประมาณด้วย

12567 g 20220726154057
กมธ.ฯแนะรัฐบาลจัดงบฯดำเนินโครงการให้ตรงความต้องการ “เกษตรกร”

ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการได้มีข้อสังเกตไปยังรัฐบาล โดยขอให้จัดทำงบประมาณคู่ขนานทั้ง 2 โครงการร่วมกันไป โดยยึดผลประโยชน์เกษตรกรเป็นหลักเพื่อการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ตรงความต้องการเกษตรกรอย่างแท้จริง

กรมการข้าวแจง “งบ 15,000 ล้าน” มุ่งยกระดับศูนย์ข้าวชุมชน เชื่อมั่น ลดต้นทุน เพิ่มรายได้และผลผลิตให้ชาวนา นำไปสู่การลดงบประมาณในการช่วยเหลือชาวนาในประเทศ

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ได้ชี้แจงเสียงวิจารณ์งบ15,000 ล้านบาทของกรมการข้าว ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีความเป็นห่วงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาไทยมาโดยตลอดจึงได้ออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อมาช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าวผ่านการจัดสรรงบประมาณไปยังกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำไปพัฒนา สนับสนุน และยกระดับคุณภาพชีวิตของ “ชาวนาไทย”

ทั้งนี้ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กรมการข้าวได้รับ “งบประมาณ” เพิ่มเติมจากรัฐบาลผ่านโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตร สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็นจำนวน “15,000 ล้านบาท” ซึ่งถือได้ว่าเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นกว่าทุกครั้งที่กรมการข้าวจะได้รับการจัดสรรงบประมาณ

สาเหตุที่ “กรมการข้าว” ได้รับการจัดสรรงบประมาณที่เพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รัฐบาลได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าว คือ นโยบายสร้างความยั่งยืนของการพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนค่าต้นทุนการผลิตข้าวและค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.60 ล้านครัวเรือน พื้นที่ประมาณ 62 ล้านไร่ ใช้งบประมาณปีละประมาณ 54,000 ล้านบาท (โดยไม่รวมงบประมาณโครงการหรือนโยบายการช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวหลักของรัฐ เช่น ประกันรายได้เกษตรกรและมาตรการคู่ขนานอื่น ๆ)

ทั้งนี้ค่าลดต้นทุนและค่าเก็บเกี่ยวข้าวของ “เกษตรกรผู้ปลูกข้าว” รัฐจะจ่ายเงินสนับสนุนให้กับเกษตรกรโดยตรง ผ่าน ธ.ก.ส. โดยไม่ต้องมีการติดตามว่าเกษตรกรจะนำไปใช้จ่ายที่ตรงเป้าหมายที่รัฐกำหนดหรือไม่ จึงทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของนโยบายวินัยการเงินและการคลังของประเทศไทย ที่จะต้องเพิ่มงบประมาณในการลงทุน (งบครุภัณฑ์) ของประเทศไทย เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดตั้งงบลงทุนต่ำแต่เมื่อรัฐบาลต้องการสร้างความยั่งยืนและให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีความเข้มแข็งในอนาคต รัฐบาลจึงปรับเปลี่ยนการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยเป็นการสนับสนุนค่าต้นทุนการผลิตข้าวและค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับ “เกษตรกรผู้ปลูกข้าว” มีเป้าหมายสนับสนุนงบประมาณไปยังศูนย์ข้าวชุมชนจำนวน 5,000 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยโครงการจะกำหนดการสนับสนุนงบประมาณตามศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก (ตามแผนการปฏิบัติงานที่จะดำเนินการบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าว) และพิจารณาตามพื้นที่ทำนาปลูกข้าวในเขตการให้บริการของศูนย์ข้าวชุมชน